หน้าแรก สยามโฟน ดอท คอม

 
                          
หน้าแรก : สยามโฟน ดอท คอม รวมแคตตาล็อกมือถือ รีวิวผลิตภัณฑ์ & โทรศัพท์มือถือ SP Community : ชุมชนผู้ใช้มือถือ โนเกีย เอนเกจ คลับ ประกาศซื้อ-ขาย ราคาโทรศัพท์มือถือ ดาวน์โหลด ไดเรคทอรี่


  บทความพิเศษ :
มือถือไทย ... อดีต ปัจจุบัน กับพัฒนาการสู่อนาคต โดย อ.ไพโรจน์ ไววานิชกิจ

นับถึงปัจจุบัน ทุกคนคงยอมรับว่าการสื่อสารแบบไร้สายกลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา ๆ ท่าน ๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือที่นิยมเรียกกันว่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการเติบโตและแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ในโอกาสที่ผู้เขียนได้รับการชักชวนจากกองบรรณาธิการนิตยสารอินเตอร์แมกาซีน ให้ทำหน้าที่นำเสนอบทความพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ จึงขอนำเสนอภาพโดยทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายประเภทนี้ เริ่มต้นจากอดีต สู่ปัจจุบัน และต่อเนื่องไปยังอนาคตอันใกล้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับผู้อ่าน โดยท่านสามารถส่งอีเมลถึงผู้เขียนโดยตรงได้ที่ wpairoj@chula.com

- รายละเอียดเนื้อหาโดยหัวข้อ :

  1. สภาวะการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
  2. การเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทย
  3. เส้นทางสู่ยุค 3G ของเครือข่าย 2G ทั่วโลก
  4. Mobile Data : คลื่นร้อนของธุรกิจสื่อสารไร้สาย (ต่อหน้า 2)
  5. EDGE ทางออกสำหรับการก้าวสู่ยุค 3G
  6. แนวทางการให้บริการเทคโนโลยี EDGE
  7. วิเคราะห์อนาคตเทคโนโลยี EDGE ในประเทศไทย

 

  สภาวะการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

ที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้อนุมัติคลื่นความถี่วิทยุให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ซึ่งก็คือบริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT (Nordic Mobile Telephone) ความถี่ 470 เมกกะเฮิตรซ์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2529 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยก็ได้เจริญเติบโตขึ้นมาตามลำดับ จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 20 ล้านเลขหมาย โดยมีบริษัทผู้ให้บริการหลายรายแบ่งสัดส่วนทางการตลาดที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ในช่วงแรกการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยนั้นมีผู้ให้บริการเพียงสองราย คือ ทศท. และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) หรือบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ การขาดความชำนาญในการดำเนินนโยบายทางการตลาดของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งรวมถึงเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคแรก ๆ ที่มีราคาแพง ทั้งสองหน่วยงานจึงตัดสินใจเปิดให้เอกชนเข้าประมูลสิทธิการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้การดูแลของตน ในลักษณะการดำเนินการแบบ BTO (Build-Transfer-Operate) ซึ่งหมายถึงเอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างเครือข่ายพร้อมกับโอนกรรมสิทธิอุปกรณ์เครือข่ายเหล่านั้นให้แก่หน่วยงานเจ้าของสัมปทาน โดยรัฐให้สิทธิเอกชนในการดำเนินกิจการเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยก็ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรูปแบบการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดอนาล็อคมาสู่ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันผู้ให้บริการในประเทศไทยมีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองระบบ โดยจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอลนั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สัดส่วนผู้ใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดอนาล็อคมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศ นับถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายในแง่ของเทคโนโลยีเครือข่าย ให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยเองก็มีอยู่หลายราย แต่ละรายมีความแข็งแกร่งและส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่แตกต่าง หากจะกล่าวสรุปอย่างรวบรัดถึงรายละเอียดของบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมด รวมถึงเทคโนโลยีเครือข่าย และเครื่องหมายการค้า ก็สามารถสรุปได้ดังนี้ :


1. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS

มีบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM (Global System for Mobile Communication) ระบบความถี่ 900 เมกกะเฮิตรซ์ ซึ่งแบ่งออกเป็นแบบชำระค่าบริการต่อเดือน (Postpaid) ภายใต้เครื่องหมายการค้า GSM Advance กับแบบโทรศัพท์พร้อมใช้ (Prepaid) ภายใต้เครื่องหมายการค้า One-2-Call และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 เมกกะเฮิตรซ์ ซึ่งมีแต่แบบชำระค่าบริการต่อเดือนภายใต้เครื่องหมายการค้า GSM1800 นอกจากนั้น AIS ยังเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล โดยมีการเปิดให้บริการ GPRS (Generic Packet Radio Service) ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ, บริการ MMS (Multimedia Messaging Service) และบริการ TV on Mobile เป็นการตอกย้ำจุดยืนความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ AIS ยังมีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบอนาล็อคระบบ NMT (Nordic Mobile Telephone) ความถี่ 900 เมกกะเฮิตรซ์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า Cellular 900 แต่ปัจจุบัน บริษัทฯ มีนโยบายลดจำนวนผู้ใช้บริการในกลุ่มนี้ลง โดยส่งเสริมให้มีการโอนเลขหมายไปเป็นลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM ของตนเองแทน


2. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM ความถี่ 1800 เมกกะเฮิตรซ์ ซึ่งแบ่งเป็นแบบชำระค่าบริการต่อเดือนภายใต้เครื่องหมายการค่า DTAC ร่วมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพร้อมใช้ ภายใต้เครื่องหมายการค้า Dprompt สำหรับ DTAC นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางการตลาดเป็นอันดับที่สองรองจาก AIS มาโดยตลอด ปัจจุบัน DTAC ก็มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น GPRS หรือ MMS มาเปิดให้บริการ ทัดเทียมกับค่าย AIS แต่อาจมีการประชาสัมพันธ์ที่แผ่วเบากว่าคู่แข่งขันของตนมาก

DTAC มีบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบอนาล็อคเช่นเดียวกัน เป็นระบบ AMPS (Advanced Mobile Phone Service) ความถี่ 800 เมกกะเฮิตรซ์ ซึ่งนโยบายในการเปลี่ยนถ่ายผู้ใช้บริการให้ไปใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ของ DTAC ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกรณีระบบ NMT 900 ของค่าย AIS


3. บริษัท ทีเอ ออเรนจ์ จำกัด หรือ ORANGE

ถือเป็นบริษัทน้องใหม่ไฟแรง ที่สร้างฐานผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทีเออเรนจ์ หรือ TAO ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ GSM ความถี่ 1800 เมกกะเฮิตรซ์ เช่นเดียวกับ DTAC เพียงแต่ใช้ย่านความถี่ต่างช่วงกัน มีบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งแบบชำระค่าบริการต่อเดือนและแบบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้ ภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้า “Just Talk” ปัจจุบัน TAO ยังไม่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทย แต่กำลังอยู่ระหว่างการเร่งขยายเครือข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานเทียบเท่ากับ AIS และ DTAC ในระหว่างนี้ผู้ใช้บริการของค่าย TAO จึงอาจไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในบางพื้นที่ที่ยังไม่มีการติดตั้งเครือข่ายสถานีฐาน


4. กิจการร่วมค้าไทยโมบาย หรือ THAIMOBILE

เกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ไทยโมบายเพิ่งเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ความถี่ 1900 เมกกะเฮิตรซ์ เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ที่ผ่านมา ไทยโมบายมีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร โดยสามารถรองรับผู้ใช้บริการในระยะเริ่มต้นได้ 300,000 เลขหมาย สำหรับการนำเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งต้องเป็นแบบ Triple Band หรือรองรับการใช้งานทั้งคลื่นความถี่ 900, 1800 และ 1900 เมกกะเฮิตรซ์ ไปใช้งานยังต่างจังหวัดนั้น สามารถกระทำได้ โดยไทยโมบายมีการทำสัญญาใช้งานข้ามเครือข่าย หรือ Domestic Roaming กับค่าย AIS


5. บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส จำกัด หรือ HUTCH

เป็นน้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้า HUTCH โดยใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA (Code Division Multiple Access) ความถี่ 800 เมกกะเฮิตรซ์ จุดมุ่งหมายหลักในการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ HUTCH ก็คือ การให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน เหนือกว่าการสื่อสารข้อมูลผ่านเทคโนโลยี GPRS ของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตระกูล GSM สำหรับการให้บริการสนทนาเสียงนั้นก็มีคุณภาพที่ไม่แตกต่างไปจากระบบ GSM แต่อย่างใด ข้อจำกัดในการให้บริการของ HUCTH ก็คือการได้รับสัมปทานในการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA ในพื้นที่เพียง 23 จังหวัดเท่านั้น (รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ทำให้เกิดข้อจำกัดหลาย ๆ ประการในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันรายอื่นที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่สัมปทานให้บริการแต่ประการใด

เมื่อทราบถึงข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับผู้ให้บริการทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว ผู้เขียนก็จะขอกล่าวถึงภาพแห่งความเป็นจริงของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างละเอียดเป็นอันดับถัดไป

กลับขึ้นด้านบน - TOP  

 

  การเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทย

ของยอดจดทะเบียนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย โดยคิดรวมกันจากทุกระบบ พบว่ามีการขยายตัวอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ซึ่งผู้อ่านสามารถพิจารณาได้จาก รูปที่ 1 โดยอัตราการเติบโตของจำนวนเลขหมายจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2543 เทียบกับปีก่อนหน้ามีค่าถึงร้อยละ 46.2 และมียอดจดทะเบียนสิ้นปีประมาณ 3.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งแม้จะเป็นการเติบโตที่สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในแวดวงโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ก็ไม่สามารถเทียบได้กับอัตราการเติบโตในปี พ.ศ. 2544 ที่สูงขึ้นเป็นร้อยละ 118.4 ทำให้ยอดรวมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7.9 ล้านเลขหมาย

การเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี พ.ศ. 2545 กลับมีความรุนแรงมากยิ่งกว่า โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 พบว่ายอดรวมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศพุ่งสูงขึ้งถึง 15.7 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราการเติบโตเท่ากับร้อยละ 97.9 ซึ่งหากประเมินยอดจดทะเบียนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2545 แล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่าปี พ.ศ. 2545 ถือเป็นปีทองของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสำนักวิจัยหลาย ๆ ฝ่ายก็เชื่อกันว่า น่าจะเป็นปีสุดท้ายที่จะได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศเริ่มเข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น ดังที่ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในภายหลัง



รูปที่ 1 อัตราการเติบโตของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย


การเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี พ.ศ. 2545 กลับมีความรุนแรงมากยิ่งกว่า โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 พบว่ายอดรวมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศพุ่งสูงขึ้งถึง 15.7 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราการเติบโตเท่ากับร้อยละ 97.9 ซึ่งหากประเมินยอดจดทะเบียนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2545 แล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่าปี พ.ศ. 2545 ถือเป็นปีทองของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสำนักวิจัยหลาย ๆ ฝ่ายก็เชื่อกันว่า น่าจะเป็นปีสุดท้ายที่จะได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศเริ่มเข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น ดังที่ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในภายหลัง

อนึ่ง ความหมายของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น จะหมายถึงจำนวนเลขหมายสุทธิที่เกิดจากการขายเลขหมายใหม่ หักจำนวนเลขหมายที่ถูกยกเลิก ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงสามารถนำไปสะท้อนถึงจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดในประเทศไทยได้คร่าว ๆ โดยอาจจะมีค่ามากกว่าจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด หากคิดว่ามีผู้ใช้บริการหลายรายถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เลขหมาย

รูปที่ 2 เป็นวิวัฒนาการการเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้ในประเทศไทย นับตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการเปิดให้บริการโดยค่าย AIS (One-2-Call) และ DTAC (Dprompt) ในเดือนตุลาคม 2542 เป็นต้นมา ผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่าในช่วง 1 ปีเศษ ๆ นับตั้งแต่เริ่มต้นเปิดให้บริการ อัตราการเติบโตของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้เป็นไปอย่างเชื่องช้า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลองผิดลองถูกของบริษัทผู้ให้บริการ ที่พยายามกำหนดตำแหน่งทางการตลาด (Market Positioning) ให้กับบริการดังกล่าว แต่สาเหตุสำคัญที่แท้จริงก็เนื่องมาจากการขาดแคลนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งผู้อ่านคงจำกันได้ว่าแต่เดิมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้หมวดเลข “01-” ทำให้เกิดปัญหาเลขหมายถูกจำหน่ายหมดและเริ่มจะไม่มีเลขหมายให้จำหน่ายกัน โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพร้อมใช้จึงถูกคุมกำเนิดด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเลขหมายโดยปริยาย



รูปที่ 2 การเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพร้อมใช้ (Prepaid)
และสัดส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้ก่อนจ่าย (Postpaid)


จนกระทั่งเมื่อมีการแก้ไขปัญหาเลขหมายไม่เพียงพอ โดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ประกาศให้โทรศัพท์ทุกระบบในประเทศไทย ใช้เลขหมายแบบ 9 หลัก ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 จึงทำให้มีการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หมวดหมู่ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น “09-”, “06-” ฯลฯ เพิ่มเติมขึ้นมา ทำให้ปัญหาเรื่องเลขหมายขาดแคลนหมดไปในทันที ประกอบกับบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถวางตำแหน่งทางการตลาดที่ชัดเจน ให้กับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้ได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้กระแสการยอมรับใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้พุ่งสูงขึ้น โดยยอดรวมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้ทั่วประเทศพุ่งทะลุ 1.8 ล้านเลขหมายภายในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3 ของ พ.ศ. 2544 นั้นเอง และหลังจากนั้น การเติบโตของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้ก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดดโดยไม่มีไตรมาสใดที่ยอดจดทะเบียนใหม่จะต่ำกว่า 1 ล้านเลขหมายอีกเลย

สิ่งที่ควรจดจำก็คือ จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้ทั่วประเทศเติบโตจนเท่ากับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการต่อเดือนในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2545 และยอดรวมของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมใช้ทุกระบบทั่วประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 เท่ากับ 11,187 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการต่อเดือนเท่ากับร้อยละ 250 หรือมากกว่าถึง 2.5 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมาก

กระแสการตื่นตัวสนใจเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3G (Third Generation Mobile) ซึ่งก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีทีท่าว่าจะแผ่วลงด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ ที่สำคัญที่สุดน่าจะมาจากคำถามในใจของบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกว่า การลงทุนสร้างเครือข่าย 3G ด้วยเงินลงทุนจำนวนมหาศาลนั้น จะให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่คุ้มค่าจริงหรือ ทั้งนี้เพราะการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G นั้น ผู้ให้บริการย่อมต้องมั่นใจว่ารายได้จากการสื่อสารข้อมูล (Data Communication) ซึ่งถือเป็นบริการเป้าหมายหลักของโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G นั้นมีอยู่จริง และมีอยู่มากพอที่จะผลักดันให้เกิดรายได้มหาศาล ชดเชยกับเงินลงทุนก้อนใหญ่ที่ลงไปกับอุปกรณ์เครือข่าย และการประมูลเพื่อขอใช้สิทธิ์คลื่นความถี่วิทยุในแต่ละประเทศ

กลับขึ้นด้านบน - TOP  

 

  เส้นทางสู่ยุค 3G ของเครือข่าย 2G ทั่วโลก

เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย เนื่องจากเป็นการพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบ GSM และ CDMA ให้มีขีดความสามารถในการรับส่งข้อมูลที่มิใช่เสียงพูด (Non-voice) สูงมากขึ้น โดยสิ่งที่ผู้คนทั่วไปรับทราบกันดีก็คือ การพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 2G ให้กลายเป็นเครือข่ายยุค 2.5G ซึ่งในกรณีของเครือข่าย GSM ก็คือการเพิ่มขีดความให้เป็นเครือข่าย GPRS (Generic Packet Radio Service) ซึ่งเมื่อให้บริการกับเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถรองรับเทคโนโลยี GPRS ด้วยกันได้แล้ว ก็จะช่วยสร้างรายได้จากการบริโภคข้อมูลประเภทต่าง ๆ ให้กับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 2.5G ไม่ว่าจะเป็นของค่ายใดนั้น ล้วนแล้วแต่มีแนวความคิดพื้นฐานในการพัฒนาเครือข่าย 2G เดิม โดยเน้นให้ต้นทุนในการพัฒนาต่ำที่สุด กล่าวคือ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาปรับเปลี่ยนการทำงานของอุปกรณ์เครือข่ายโดยใช้ซอฟท์แวร์ และอาจต้องเพิ่มอุปกรณ์แพ็กเกตสวิทชิ่งเข้ามา เพื่อแยกเส้นทางในการลำเลียงข้อมูลเสียงพูด (Circuit Switching) ออกจากเส้นทางในการลำเลียงข้อมูล (Packet Switching) ซึ่งหากจะพิจารณาเป็นตัวเงินในการลงทุนแล้ว ย่อมต้องถือว่าค่อนข้างต่ำมาก การพัฒนาเครือข่าย 2G ไปเป็น 2.5G จึงเป็นสิ่งที่ไม่อยู่เหนือบ่ากว่าแรงของบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ผู้ให้บริการทั้งหลายต้องยอมรับก็คือ ข้อจำกัดของขีดความสามารถในการรับส่งข้อมูล ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดทางกายภาพของเครือข่าย 2G ที่เป็นเครือข่ายพื้นฐานให้กับ GPRS

เทคโนโลยี 3G จึงเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละรายให้ความสนใจจับตามองเป็นอันดับต่อไป ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารข้อมูลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ ด้วยการสร้างบริการแบบ Non-voice ประเภทใหม่ ๆ ซึ่งอาจก้าวไปถึงขั้นของการเสนอแอปพลิเคชั่นแบบมัลติมีเดีย โดยผ่านทางเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารไร้สายในรูปแบบอื่น ๆ ที่รองรับเทคโนโลยี 3G นั้นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างกันของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 2 ซึ่งมีการเปิดให้บริการใช้งานทั่วโลกในปัจจุบัน จะพบมาตรฐานหลัก ๆ 4 ระบบ ที่มีการลงทุนสร้างเครือข่ายขึ้นเพื่อให้บริการในแต่ละทวีปทั่วโลก แนวทางในการพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G เหล่านี้ไปสู่ยุค 3G ล้วนมีความแตกต่างกันในรายละเอียดทางเทคนิค โดยพอที่จะกล่าวสรุปตาม รูปที่ 3 ได้ดังนี้



รูปที่ 3 แนวทางในการพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 2G ไปสู่มาตรฐานยุค 3G


- มาตรฐานเครือข่าย GSM :
มีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน โดยผู้ให้บริการสามารถเพิ่มความสามารถของเทคโนโลยี GPRS เพื่อทดสอบการตอบรับของผู้ใช้บริการได้ก่อน บางรายอาจมีการเปิดให้บริการเทคโนโลยี HSCSD (High Speed Circuit Switched Data) ก่อนจะเปิดใช้บริการ GPRS ก็ย่อมได้ จุดหมายปลายทางของผู้ให้บริการเหล่านี้ อาจเลือกกระโดดจาก GPRS ไปสู่เทคโนโลยี UMTS แบบ W-CDMA (Wideband CDMA) ซึ่งเป็นมาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G โดยตรง หรือผ่านเส้นทางของเทคโนโลยี EDGE ก่อนจะเข้าสู่ยุค 3G ก็ได้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงข้อพิจารณาเกี่ยวกับทางเลือกนี้ในภายหลัง

นอกจากนั้น ผู้ให้บริการเครือข่าย GSM ยังมีทางเลือกเพิ่มเติมในการพัฒนาเครือข่ายของตนจากยุค 2G ไปสู่เทคโนโลยี GPRS และก้าวกระโดดไปสู่เทคโนโลยีแบบ TD-SCDMA (Time Division-Synchronization CDMA) ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ที่ได้รับการผลักดันให้เป็นมาตรฐานหลัก โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเมนส์และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับแนวทางนี้ยังอยู่ภายใต้การพิจารณาเตรียมความพร้อมทางด้านเทคนิค ก่อนที่จะประกาศให้เป็นมาตรฐานในอนาคตต่อไป

- มาตรฐานเครือข่าย CDMA หรือ IS-95 : สำหรับในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้ให้บริการรายใหญ่ดังเช่นบริษัท J-Phone หรือ KDDI จะมีแนวทางการพัฒนาเครือข่าย CDMA ของตนให้กลายเป็นมาตรฐาน cdma2000 ซึ่งเป็นมาตรฐาน 3G โดยตรง ต่างกับในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในทวีปเอเซีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีขั้นตอนในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเครือข่าย CDMA ของตนเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน cdma2000 ที่ค่อนข้างซับซ้อนวุ่นวาย สำหรับในยุโรปนั้นจะมีการพัฒนาเครือข่าย CDMA แบบ IS-95 ไปเป็นมาตรฐาน IS-95B ซึ่งมีขีดความสามารถเทียบเท่ากับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2.5G ก่อนที่จะก้าวกระโดดไปสู่มาตรฐาน cdma2000

- มาตรฐานเครือข่าย TDMA หรือ IS-136 : เป็นมาตรฐานที่ใช้งานกันอยู่ในทวีปอเมริกา มีขั้นตอนการพัฒนาเครือข่ายไปสู่มาตรฐาน IS-136+ ซึ่งมีขีดความสามารถเทียบเท่ากับมาตรฐาน 2.5G ติดตามด้วยการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งสู่มาตรฐาน IS-136hs อันเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ EDGE ของตระกูล GSM ปิดท้ายด้วยการก้าวเข้าสู่มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ UMTS แบบ W-CDMA เป็นอันดับสุดท้าย

- มาตรฐานเครือข่าย PDC หรือ Packet Digital Cellular : หรือที่มีชื่อเรียกทางการว่า I-mode อันลือลั่นของบริษัท NTT DoCoMo ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเครือข่าย 2.5G โดยพื้นฐานอยู่แล้ว จึงมีเส้นทางในการพัฒนาไปสู่ความเป็นเครือข่าย 3G ที่ง่าย ๆ ด้วยการแปลงสภาพไปเป็นเครือข่ายมาตรฐาน UMTS แบบ W-CDMA โดยตรง

โดยสรุป จึงสามารถกล่าวได้ว่า มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่หลัก ๆ ทั่วโลก ต่างมีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาเข้าสู่ยุค 3G โดยอาจมีความแตกต่างในรายละเอียดทางด้านเทคนิคบ้าง ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บริหารเครือข่ายในการเลือกกำหนดแนวทางในการพัฒนาเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุน, ความพร้อมของเครือข่ายในปัจจุบัน, ความพร้อมของเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และความพร้อมในการใช้บริการ Non-voice ของผู้ใช้บริการภายในเครือข่ายของตน ในบทความเรื่องนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงทางเลือกในการก้าวสู่ยุค 3G เฉพาะสำหรับเครือข่าย GSM ซึ่งเป็นเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก


อ่านต่อหน้า 2 Mobile Data : คลื่นร้อนของธุรกิจสื่อสารไร้สาย

 

กลับขึ้นด้านบน - TOP


 


MOBILEMAG : ทุกสาระบันเทิงที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือต้องการ