แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 27 มิถุนายน 2555

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

พณฯ ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ต่อ 1 นักเรียน ร่วมกับ มูลนิธินวัตกรรมเพื่อการศึกษา เล็งเห็นว่า โครงการแท็บเล็ตสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งจะมีรายละเอียดมากกว่าระดับประถมปีที่ 1 นั้นมีรายละเอียดเชิงวิชาการที่หลากหลาย ที่สำคัญ จะเป็นการทดลองการเรียนในลักษณะออนไลน์ ไม่ได้ออฟไลน์เหมือนชั้นประถมปีที่ 1 จำต้องมีการโครงการทดลองนำร่อง เพื่อหาโมเดลต้นแบบที่เหมาะสม ที่หลากหลายตามวิธีการสอนของแต่ละโรงเรียนซึ่งไม่เหมือนกัน จึงร่วมกันจัดงานประชุมสุดยอดผู้บริหารโรงเรียน เพื่อเตรียมโครงการนำร่องแท็บเล็ตสำหรับมัธยมศึกษา ในวันที่ 26 มิถุนายน ระหว่างเวลา 9.00 - 16.00 น. ณ ห้องประชุมจูปิเตอร์ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

การดำเนินงานครั้งนี้ จะเปลี่ยนจากด้านอุปทาน เป็นอุปสงค์ (จาก Supply Side เป็น Demand Side) โดยเริ่มจากความต้องการของโรงเรียนและผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง และให้โรงเรียนกับผู้ปกครองเป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเอง ทำให้โรงเรียนเต็มที่เต็มกำลังกับสิ่งที่เขาอยากได้ไม่บังคับให้มีเพียงรูปแบบเดียว จากนั้นสรุปผลโรงเรียนต้นแบบเพื่อนำเสนอแก่รัฐบาลในลำดับต่อไป

ดร. โอฬาร กล่าวต่อว่า "งานประชุมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ "เปลี่ยน วิธีการเรียน วิธีการคิด ชีวิตก็เปลี่ยน" เพื่อย้ำให้เห็นว่า แท็บเล็ตเป็นเพียงกุศโลบายในการเปลี่ยนวิธีการสอน เป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยเสริมบทบาทครูให้สามารถสอนหนังสือได้สนุกสนาน มีสีสัน และหลากหลายวิธี ไม่ใช่มาแทนที่ครู ไม่ใช่เปิดไฟล์วีดีโอหรือให้เด็กเล่นโปรแกรมเองแล้วบอกว่า ครูสอนใช้ได้หรือสอนได้สำเร็จ บทบาทของครูต้องชัดเจนในฐานะการเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยการสอน (facilitator) ต้องจุดประกายความคิด ตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กอยากค้นคว้า อยากอ่านหนังสือ สามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองและจากคนรอบข้างผ่านการปฏิบัติจริง (constructionism) ไม่ใช่แค่ฟังแล้วทำตามครู เรียนแล้วจบมาก็เป็นแค่ผู้ตาม (follower) ไม่ใช่ผู้นำ (leader)"


"...ปัญหาการศึกษาไทยวันนี้ ไม่ใช่เรื่องคุณภาพครู ที่เกิดจากรายได้น้อยและสวัสดิการไม่เพียงพอ เพราะถึงแม้ว่าครูจะมีเงินเดือนสูง ครูก็ไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้อง "สอนดีหรือสอนเก่ง" และที่สำคัญ เราจะรอให้ครูเก่งเกิดขึ้นเองไม่ได้ เราต้องเริ่มสร้างและแก้ไขในวันนี้ เพราะการศึกษาคือต้นน้ำของทุกอุตสาหกรรม คือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจและสังคม"

ดร.โอฬาร กล่าวย้ำต่อว่า "มะเร็งและปัญหาการศึกษาไทยที่แท้จริงก็คือ "วิธีการสอน" การสอนที่ไม่น่าสนใจ และไม่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21 ทำให้เด็กไทยคิดไม่เป็น ทำงานเป็นทีมไม่เป็น วิเคราะห์สังเคราะห์ไม่ได้ ที่สำคัญ ไม่มีหลักคิดในการแยกแยะระหว่างข่าวสารที่จริงแค่บางส่วน หรือไม่จริงเลย ออกจากความจริง (critical thinking) สิ่งเหล่านี้ ทำให้สังคมไทย ติดหล่มกับความรู้สึกและการด่วนสรุปเพื่อสนองตอบความเชื่อส่วนตัว มากกว่าการคิดที่เป็นระบบและคิดเพื่อส่วนรวม"


"วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เราต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนมัธยม นอกจากนี้ ยังจัดประชุมฯ เพื่อหาโรงเรียนต้นแบบ โดยแสวงหาแนวร่วมจากโฏรงเรียนและเครื่อข่ายผู้ปกครองที่พร้อมทั้งด้านบุคคลากรและผู้ผลิตเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ อินเทล กูเกิ้ล แอปเปิ้ล เอชพี และหัวเว่ย ซึ่งล้วนมีความตั้งใจดี ที่ต้องการช่วยกันปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปใน "ระดับดีเอ็นเอ" ของการศึกษา ซึ่งก็คือวิธีการเรียนการสอน"

ดร. โอฬาร ไชยประวัติ กล่าวว่า "สำหรับประเทศไทย มีการเตรียมการสำหรับการศึกษาระบบ digital อย่างไรนั้น ผมเองได้มีส่วนในการผลักดันการศึกษาไทย ร่วมกับมูลนิธิศึกษพัฒน์ ในการนำการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม ด้วยการใช้ One Lap Top Per Child เพื่อกระจายโอกาสการเรียนรู้ และเขเาถึงโลก digital แก่คนในชนบทให้เท่าเทียมกับคนเมือง และได้มีส่วนในการผลักดันให้เกิด One Tablet Per Child ในโรงเรียนต้นแบบที่ Prince's Royal College จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เริ่มปีการศึกษา 2554 อันเป็นต้นแบบการเรียนรู้และพัฒนามาสู่โครงการของรัฐบาล ซึ่งบางคนยังมองว่าเป็นการเปลี่นแปลงทางกายภาพ หรือมองเพียงเครื่องมือสำหรับเล่นเกมส์ของเด็ก แต่เบื้องลึกของสิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมการประชาชนไทยให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการเรียนรู้เพื่อการประกอบสัมมาอาชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีรายได้ที่เหมาะสมกับความสามารถของตนในฐานะประชากรโลก"

"การเริ่มประถมการศึกษาปีที่ 1 นั้น มีคำถามมากมายที่หลายคนคงจะต้องการคำตอบ ซึ่งจะหาคำตอบได้จากงานสัมมนานี้ แต่ที่สำคัญสิ่งที่เรากำลังจะเตรียมต่อไปนั่นคือ การเตรียมการตลอดเส้นทางการศึกษาเพื่อรองรับการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 นั่นคือการปฏิวัติการศึกษาเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิตอล การพัฒนาคนเพ่อการเข้าสู่ระบบการหารายได้จากสัมมาชีพ เป็นการพัฒนาการศึกษาไทยให้มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบ โรงเรียน หรือ การเรียนรู้ในระบบทางเลือก"


"สิ่งสำคัญ คือการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้เข้าถึง เข้าใจ และเข้าร่วมกระบวนการในการพัฒนาผู้เรียน ให้ก้าวทันตามสังคมดิจิตลอได้อย่างเท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ และไม่เป็นผู้ก้าวล่วงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม นี่คือบทเรียนพื้นฐานของการเป็นพลเมืองโลก ซึ่งการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสู่สิ่งเลห่านี้" ดร. โอฬารกล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่