แอปพลิเคชัน (Application)  |   วันที่ : 4 กรกฎาคม 2560

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

เก็บตกจากงาน LINE MAN 1st Anniversary ไปเมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า O2O เป็นเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามองในประเทศไทยในตอนนี้ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเติบโตของการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือที่มากเป็นพิเศษอย่างไทยเรา การจะเอาสื่อออนไลน์มาทำประโยชน์ให้ธุรกิจ ออฟไลน์ซึ่งถือเป็นรูปแบบธุรกิจที่ดำเนินมาช้านาน เช่น ธุรกิจค้าปลีก นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ทว่า สิ่งที่เราหวังกับความเป็นจริงยังคงต่างกัน จากสถิติพบผู้ค้าปลึกในไทยที่เป็นออนไลน์หรือผันตัวเองเข้ารูปแบบออนไลน์ ยังมีไม่ถึง 3% ของจำนวนผู้ค้าปลึกทั้งหมดเท่านั้น!

ผู้ค้าปลีกดั้งเดิมหลายคน ไม่กล้าที่จะก้าวเข้าสู่ออนไลน์ เหตุจากความเข้าใจผิดกับคำว่า Digital Disruption หรือการเข้ามาแทรกแซงของดิจิตอล ว่าจะเป็นตัวทำให้ธุรกิจออฟไลน์หรือธุรกิจที่มีหน้าร้านถดถอยลงและทยอยปิดตัวลงไปในที่สุด แต่ความจริงแล้ว การที่จะทำให้ธุรกิจออฟไลน์เหล่านั้นอยู่รอดท่ามกลางสภาวะ Digital Disruption นั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณรู้จักการดำเนินธุรกิจประเภท “O2O”

O2O หรือธุรกิจแบบ Online to Offline คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยซักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่านักการตลาดน่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้วบ้างแน่นอน โดยประเทศผู้นำด้าน O2O คงหนีไม่พ้นประเทศจีน ที่มีพฤติกรรมผู้บริโภคใช้งานบริการออฟไลน์ต่างๆ ผ่านออนไลน์สูงเป็นอันดับต้นๆ ด้วยมูลค่าการค้าขายออนไลน์เกินกว่า 20 ล้านล้านบาท ในขณะที่ไทยเราตอนนี้ยังคงไม่เกิน 3 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพ O2O ชัดขึ้น ขอหยิบ quote อ้างอิงมาจากคุณ Pawoot ที่ว่า “O2O คือ "การใช้ความสามารถของสื่อออนไลน์กระตุ้นให้เกิดความต้องการ (Demand) และไปเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของธุรกิจที่มีหน้าร้านค้าในโลกออฟไลน์" และในแง่ของเทคโนโลยี O2O คือ “การผสมผสานของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต + โซเชียลเน็ตเวิร์ค + โทรศัพท์มือถือ + การค้าหน้าร้านค้า เข้าด้วยกันอย่างลงตัว”

เห็นแบบนี้ อาจคิดว่า “งั้นทุกแอพฯ ก็เป็น O2O สิ” แต่ช้าก่อน! อย่าลืมว่า O2O ต้องมาจากการดึงออนไลน์มาสร้างผลประโยชน์ให้กับออฟไลน์ ใช่ว่าทุกแอพฯ จะนำไปสู่บริการที่เกิดในออฟไลน์หรือมีหน้าร้านกันหมดทุกแอพ ดังนั้น คิดใหม่! ใช่ว่าทุกแอพฯ จะเป็น O2O หมดเสมอไป ถ้าจะเรียกให้ง่าย ในภาษาบ้านเรา อาจจะพูดได้ว่า “กิจกรรม/บริการออฟไลน์อะไรก็ตามที่คุณเรียกใช้ผ่านมือถือหรือผ่านออนไลน์ นั่นแหละคือ O2O”

มาที่ LINE คนไทยส่วนใหญ่หลายคนก็รู้จักในฐานะแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำในหลากประเทศรวมถึงไทย ด้วยเหตุนี้ LINE จึงอยากดึงเอาความเป็นออนไลน์ มาเป็นตัวช่วยทำให้กิจกรรมหรือบริการออฟไลน์ในบ้านเรา ได้มีความพัฒนา ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และที่สำคัญ ขายได้มากขึ้น! และทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อผู้รับประโยชน์ปลายทางคือผู้บริโภคด้วย ให้สามารถใช้บริการออฟไลน์เหล่านั้นได้สะดวกสบายมากขึ้น รวมๆ คือพัฒนาทั้งผู้ประกอบการ พัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตผู้บริโภคไปในตัว!

กิจกรรมหรือบริการออฟไลน์ที่ LINE ดึงเอามาพัฒนานั้นคืออะไร? เราก็ต้องมาย้อนดู Demand จากคนทั่วไปในสังคมซะก่อน ผลการสำรวจภายในของ LINE จากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคในเมืองกรุง ถึงความต้องการผู้ช่วยในชีวิตประจำวันว่าถ้าเป็นไปได้ อยากได้ความช่วยเหลือในด้านไหนมากที่สุด พบว่า อันดับแรก "อาหาร" มาอันดับ 1 สำคัญที่สุดทั้งในด้าน Value และ Volume คือต้องการสูงและต้องการบ่อย ทุกวัน ไม่มีวันไหน ยอมแพ้เรื่องอาหารแน่นอน!

รองลงมาที่คนกรุงต้องการสูงเช่นกัน คือ "แมสเซนเจอร์" ผู้ช่วยที่จะคอยส่งของ เอกสารด่วนให้เราในเวลาที่เราต้องการ โดยปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นสภาพการจราจร และชีวิตอันเร่งรีบในแต่ละวันที่จะต้องแข่งกับเวลา ทำให้บริการแมสเซนเจอร์ เป็นอีกหนึ่งบริการที่หลายคนต้องการเพื่อมาตอบโจทย์ในการดำรงชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว

อันดับต่อมาคือ การซื้อของใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ ในการดำรงชีพตาม "ร้านสะดวกซื้อ" ผู้ช่วยที่จะตอบโจทย์เมื่อยามฉุกเฉิน แม้ร้านสะดวกซื้อจะเปิดให้บริการใกล้บ้านเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อถึงยามคับขันแล้ว การได้ผู้ช่วยมาช่วยซื้อของจากร้านสะดวกซื้อก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวกรุงยังคงเรียกร้องอยู่อีกด้วย และรองลงมาคือการ "ส่งพัสดุ" ยิ่งโดยเฉพาะในยุคที่ SME กำลังเติบโต ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ แต่มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วประเทศได้ ความต้องการส่งของที่ปลอดภัย รวดเร็วและครอบคลุมทั่วไทยจึงกลายเป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยที่คนในเมืองกรุงต้องการตามลำดับ

และด้วยผลการสำรวจนี้เองจึงเป็นที่มาและต้นกำเนิดของ 4 บริการหลักใน LINE MAN ถามว่าแล้วมันเป็น O2O ด้วยการใช้สื่อออนไลน์สร้างประโยชน์ให้ธุรกิจออฟไลน์ในรูปแบบไหน มาดูกัน

จะเห็นได้ว่า LINE MAN เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยเสริมสร้างผลประโยชน์ให้กับธุรกิจออฟไลน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนส่ง ธุรกิจการค้าปลีก ทั้งในรูปแบบร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจร้านอาหาร เช่น ร้านเจ๊โอว ร้านมาม่าชื่อดังยามดึกย่านจุฬา หรือร้านเรือธง ร้านอาหารทะเลย่านรามอินทราที่สามารถสร้างรายได้จากลูกค้าที่สั่ง LINE MAN ถึงหลักล้านเลยทีเดียว! ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ธุรกิจออฟไลน์หรือ O ตัวที่สอง ให้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ให้มียอดขายเพิ่มขึ้นเท่านั้น LINE MAN ยังตอบโจทย์ผู้ใช้งานคือบุคคลทั่วไปให้มีชีวิตที่ดี สะดวกสบายยิ่งขึ้นอีกด้วย

เรียกได้ว่า LINE MAN เป็น O2O ที่สร้างกำไรสองต่อทั้งกับธุรกิจออฟไลน์และกับผู้ใช้งานไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ (ผ่าน Mobile) ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจแบบ O2O จึงนับว่าเหมาะที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย และ LINE MAN ก็พร้อมจะเป็นผู้นำในธุรกิจแบบ O2O เพื่อจะขยายให้เอื้อประโยชน์ไม่ใช่เพียงแต่ในเมืองกรุงเท่านั้น แต่จะก้าวไปสู่การพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่