หูฟัง Earbuds (Earbuds)  |   วันที่ : 24 สิงหาคม 2559

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างยิ่งใหญ่กับงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559" ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" รวมสุดยอดนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ มาจัดแสดงอย่างอลังการ พลาดไม่ได้กับไฮไลท์ 4D Simulator "The Last Day" ในรูปแบบ 4D Effect สมจริง พร้อมพบกับนวัตกรรมลดโลกร้อน นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์ขนาดใหญ่ แมลงชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบโดยนักวิจัยไทย และกิจกรรมสุดท้าทายอีกมากมาย ตั้งแต่วันนี้ -28 สิงหาคม 2559 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี


ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559" ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2559 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" พร้อมกันนี้เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ตั้งให้ปี 2559 เป็น "ปีสากลแห่งถั่วพัลส์" หรือ "2016 International Year of PULSES" อีกด้วย ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ


ถือเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งปีระดับประเทศและแถบภูมิภาคเอเชีย ในการแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่นำสมัย และศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย โดยการผนึกกำลังร่วมกันกับ 9 กระทรวง 18 สถาบันการศึกษา รวมมากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศเข้าร่วมงานอีก 8 ประเทศ มากกว่า 10 หน่วยงาน อาทิ ประเทศ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และจีน ร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมการค้นคว้าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป

โดยมีรูปแบบของการจัดกิจกรรมในงานคล้ายกับเทศกาลวิทยาศาสตร์ (Science Festival) ในหลายประเทศ ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบทันสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) สำหรับการนำเสนอในปีนี้เน้นเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศไปสู่ "Valued-Based Economy" หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (New Growth Engine) เพื่อให้มีการเจริญเติบโตก้าวไกลด้วยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve มุ่งสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อันจะเป็นการกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนที่ต้องเติบโตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในวันข้างหน้า ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปต่อยอดเพื่อพัฒนาชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป


รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานนี้ว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ว่า มีการดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพิ่มกิจกรรมและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับทุกเพศทุกวัยให้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ร่วมสนุกและทดลองอย่างเพลิดเพลิน ภายในงานมีหลากหลายโซน มากมายกิจกรรมและองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุม สัมมนา โรงภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อสร้างประสบการณ์ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อ Interactive กับนิทรรศการรูปแบบ 4D Simulator ช่วยสร้างความสุข สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นแล้ว การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ยังมีการผนวกรวมงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยประจำปี 2559 หรือ Techno Mart 2016 เข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประชารัฐ ภายใต้โครงการยกระดับโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI For OTOP Upgrade) จัดแสดงเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนและประชาชนมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมทั้งในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับประเทศ


ด้านหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำนิทรรศการ กิจกรรม และผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมจัดแสดง อาทิ ท่องระบบสุริยะไปกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.), ก้าวเข้าสู่โลกการแพทย์แห่งอนาคตกับบูธศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.), ร่วมกิจกรรมชวนชิมอิ่มสนุกกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.), สนุกสนานไปกับกิจกรรม Wanna Be Zone โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ในบูธสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.), เพลิดเพลินไปกับสถานีค้นหาความหวาน "What is innovation?" กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ด้านองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานหลักในการจัดงานครั้งนี้ ยกขบวนขนความสนุกแบบจัดเต็มจากนักวิจัย อพวช. และจากต่างประเทศมาแสดงในงานครั้งนี้

อาทิ สนุกสนานไปกับ "Strange Matter นิทรรศการวัสดุสุดประหลาด" จากศูนย์วิทยาศาสตร์ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา, ท้าสมองประลองปัญญาไปกับกิจกรรมคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิตอล Hands-on "Enterprising Australians and Byte Wise" จากศูนย์วิทยาศาสตร์ Questacon ประเทศออสเตรเลีย และตื่นตาตื่นใจกับการค้นพบแมลงชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ มดทหารเทพา ตั๊กแตนคูหารัตน์ และ ผีเสื้อรัตติสิริน รวมทั้งยังมีนิทรรศการและกิจกรรมอื่นๆ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อีกมากมายที่จะมาร่วมกันสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน

สำหรับนิทรรศการหลักที่ไม่ควรพลาด คือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พบกับนิทรรศการย้อนรอยอดีตสยามประเทศไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ชมพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจของบูรพมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงวางรากฐานวิทยาศาสตร์ไทยที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นผู้บุกเบิกการนำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ พิสูจน์ความเชื่อเดิม นำพาสยามประเทศสู่แสงสว่างแห่งปัญญา ก้าวสู่การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง รวมทั้งทรงริเริ่มกิจการพิมพ์ของไทย นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" ชื่นชมกับแสงสว่างจากปัญญาพระราชทาน (The Light of Wisdom) สู่งานพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

โดยนำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์ ตั้งแต่การประกอบวิทยุแร่ โมเดลเรือรุ่นต่างๆ สิ่งประดิษฐ์เพื่อปวงชน เครื่องจักรกลเติมอากาศแบบจำลอง ทรงพัฒนาคนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับโรงเรียน พระดาบสในพระราชดำริ เพื่อฝีกอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ ชมเรือใบฝีพระหัตถ์ลำจริง "เรือซุปเปอร์มด AX7" และ "เรือเวคา 2" ที่ทรงออกแบบและต่อเรือด้วยพระองค์เอง ชม "Ball Kinetic System" ซึ่งเป็น Gimmick ของงาน เพื่อสื่อให้เห็นถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการที่พระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อเกิดเป็นประดิษฐกรรมล้ำค่า เพื่อขจัดปัดเป่าปัญหาและขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย

ดร.พิเชฐฯ ได้กล่าวแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า นิทรรศการหลักที่มีการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศให้มีการเจริญเติบโตก้าวไกลด้วยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve อาทิ นิทรรศการยานยนต์แห่งอนาคตและการขนส่ง ตื่นตาตื่นใจไปกับยานยนต์สมัยใหม่ที่มีระบบการทำงานประสิทธิภาพสูง ทั้งความปลอดภัยและกำลังส่ง ยานยนต์ที่ขนส่งผู้โดยสารจำนวนมาก เช่น ระบบราง พบกับ รถโฟมสะเทินน้ำสะเทินบก ยานยนต์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในอนาคต รถตุ๊กตุ๊กพลังงานแสงอาทิตย์ นิทรรศการนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมตะลุยโลกหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ นิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแพทย์และสุขภาพ นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีวิศวกรรมในการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาทางการแพทย์ในอนาคต Telemedicine, Neuro-marketing และการรักษาด้วยหุ่นยนต์ พบกับไฮไลท์ "หุ่นยนต์ดินสอมินิ" หุ่นยนต์บริการและดูแลผู้สูงอายุ ได้ภายในงานนี้อีกด้วย


ไม่เพียงเท่านี้ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สัมผัสประสบการณ์ ภาพยนตร์ "The Last Day" ในรูปแบบ 4D Simulator ที่ทุกคนรอคอย...สนุกและตื่นเต้นไปกับเทคนิคต่างๆ กับจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ท่ามกลางอุบัติภัยทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 4D Effect สมจริง โดยการพาทุกคนย้อนเวลากลับไป ณ จุดกำเนิดโลก เรียนรู้เรื่องราวช่วงเวลาสำคัญที่ผ่านมาของโลกถึงยุคปัจจุบันที่มนุษย์อาจต้องสูญสิ้นทุกอย่าง เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเราและการช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลบนโลกใบนี้ นิทรรศการอนาคตเทคโนโลยีชีวภาพโลก รู้จักอารยธรรมการหมัก เทคโนโลยีชีวภาพที่เก่าแก่และใกล้ตัวที่สุด ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ พบกับ "ไหดินเผา" สูดกลิ่นและชมการเปลี่ยนสภาพของปลาร้า อาหารหมักไม่เคยเอ้าท์ เพลิดเพลินกับการค้นหาความรู้ใน Bio Lab ตลาดรวมสินค้า Bio Mart และสำรวจอาชีพในฝัน Bio Job ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นิทรรศการ Miracle of Science : มหัศจรรย์แห่งไข่ จุดกำเนิดชีวิต...จุดกำเนิดเรา สัมผัส "ไข่ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย" นิทรรศการเมืองแห่งถั่ว แนวคิดตามนโยบาย Food Innopolis ฉลองปีสากลแห่งถั่วพัลส์ (UNESCO International Year of Pulses) รู้จักถั่วพัลส์ชนิดต่างๆ เพลิดเพลินกับเกมส์บิงโก ร่วมสนุกกับการปลูกถั่วพัลส์ โชว์การทำอาหารจากถั่วพัลส์


ยิ่งไปกว่านั้นภายในงานยังมี นิทรรศการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน ได้แก่ นิทรรศการ Enjoy Makerspace จากนักประดิษฐ์สู่นวัตกรรม แนวคิดจาก New York Hall of Science ประเทศสหรัฐอเมริกา มาร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในแนวทาง STEM Education ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ วทน. พบกับ Maker’s Showcase กิจกรรม Kid Maker, Maker Studio ชมสาธิต 3D Printing 3D Stereoscopic Print Pen รวมทั้ง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ ลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ในบูธต่างประเทศยังจัดแสดงผลงานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมการค้นคว้าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้เยาวชนและประชาชนคนไทยได้ชมกันอีกด้วย อาทิ บูธประเทศเยอรมนี นำเสนอภายใต้ Theme "Land of Innovation" จัดแสดง Simulator แสดงระบบของ Bosch, โครงการ Mini Phenomenta หรือตัวอย่างการจัดศูนย์วิทยาศาสตร์ภายในโรงเรียน, โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบยั่งยืน, ตื่นตาตื่นใจไปกับการแสดง Science Show ทำหิมะภายในงานโดยชาวเยอรมัน / ด้าน British Council ผู้แทนแห่งสหราชอาณาจักร จัดแสดงผลงานภายใต้ Theme "Building The Next Generation of Scientists" ร่วมสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ไปกับโครงการทุน นิวตัน เปิดโลกอาชีพสะเต็มสร้างแรงบันดาลใจ, โครงการ Famelab ซึ่งเป็นการแข่งขันการนำเสนอทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก


พลาดไม่ได้กับ "ทอล์ควิทย์พิชิตแชมป์" ร่วมพูดคุยกับแชมป์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก ปี 2016 จากประเทศมาเลเซียและประเทศไทย รวมทั้ง ค้นหาวิทยาศาสตร์ภายใต้วรรณกรรมสุดคลาสสิกของโลก Shakespeare Lives in Science / ส่วนบูธประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอ Smart Patrol การช่วยฟื้นฟูเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก, งานวิจัยเกี่ยวกับยุงและการป้องกันโรคที่เกิดจากยุง, โชว์เคสรถกะบะ Ford Ranger ที่สามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 3.5 ตัน รวมทั้ง ยังมีผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศอื่นๆ ที่นำมาร่วมจัดแสดงที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และจีน


ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2559 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานร่วมจัด ทุ่มเทเต็มที่เพื่อจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันนี้ - 28 สิงหาคม 2559 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมสนุกและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่โทร 02-577-9960 เวลาที่ เหมาะสำหรับการเข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00-20.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-20.00 น.

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่