สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที เดินหน้าเตรียมทดสอบให้บริการการยืนยันตัวตนบนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Authentication) พร้อมการลงลายมือชื่อดิจิทัลบนเครือข่ายไร้สาย (Wireless Digital Signing) ภายในไตรมาส 3 ตามกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transactions Framework) ภายใต้แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 (ASEAN ICT Masterplan 2015) สนับสนุน อีคอมเมิร์ซและการนำเข้า-ส่งออกตามการค้าเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ตามแผนงานรัฐบาลต้องการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้ดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้า-การลงทุน กระตุ้นการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก โดยกระทรวงได้มอบหมายให้เอ็ตด้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลงานด้านการพัฒนา Soft Infrastructure เป็นแกนหลักสำคัญในการสร้างและพัฒนารากฐาน ตลอดจนกลไกด้านความมั่นคงปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับหน่วยงาน องค์กร และประชาชน ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
“ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การบริหารจัดการ หรือการดูแลระบบโครงสร้างหลังบ้าน หรือที่เรียกว่า Soft Infrastructure ถือเป็นหัวใจหลักในการช่วยให้การทำงาน การขยายการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจ และธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งนี่คือพันธกิจของเอ็ตด้าที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงฯ ในกรณีของการสร้างรากฐานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เอ็ตด้ายังเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนโครงการผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand NRCA ซึ่งสำคัญต่อการยืนยันตัวตนบนออนไลน์ (e-Authentication) ตามกรอบแนวทางการยืนยันตัวตน Intra-ASEAN Secure Transactions Framework เพื่อการเชื่อมต่อและการทำการค้าตลอดจนธุรกรรมต่างๆ บนอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน ภายใต้แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 เพื่อประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงสุด นอกเหนือจากนั้น เอ็ตด้ายังช่วยดูแลงานด้านมาตรฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบ และงานด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ไปจนถึงด้านข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) เพื่อการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมอีกด้วย” ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า เอ็ตด้าในฐานะผู้ดูแลการพัฒนา Soft Infrastructure เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เตรียมที่จะนำข้อกำหนดและกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transactions Framework) เพื่อการยืนยันตัวตนบนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Authentication) มาเริ่มต้นใช้ และทดลองให้บริการในปี 2559 นี้
ทั้งนี้ e-Authentication คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการสร้างและยกระดับความน่าเชื่อถือ และความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมในระดับประชาชน องค์กรธุรกิจ อาทิ การค้าระหว่างประเทศ และการค้าออนไลน์ จนถึงธุรกรรมระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ผ่านระบบ National Single Window ของประเทศที่เชื่อมต่อเข้าสู่ ASEAN Single Window ในระดับภูมิภาค โดยการพัฒนากลไกด้าน e-Authentication เกิดขึ้นตามข้อกำหนดขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่ออำนวยความสะดวก (Trade Facilitation) ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อยืนยันการมีตัวตนของบุคคล และองค์กรในการติดต่อ และทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการก่อนิติสัมพันธ์ใดที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อความมั่นคงปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการแอบอ้างตัวตนของบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ ในทางมิชอบ
“จากข้อมูลสถิติโดยหน่วยงาน ThaiCERT ในปี 2558 ภัยคุกคามจากการหลอกลวงบนไซเบอร์มีสูงถึง 1,100 กรณี หากเปรียบเทียบสถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนภัยคุกคามต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นไล่ตามการเติบโตของการทำธุรกรรมบนอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวตนของบุคคล หรือหน่วยงานที่ติดต่อ และทำธุรกรรมด้วยบนออนไลน์ จะเป็นบุคคล หรือหน่วยงานนั้นๆ มีจริง ดังนั้น การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Authentication จึงเป็นรากฐาน และกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ในการสร้างการเติบโต และความเชื่อมั่นให้กับทั้งการทำธุรกิจระหว่างประเทศภายในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ทั้งในประเทศ และในภูมิภาค” สุรางคณา กล่าว
จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังระบุการทำธุรกรรมการเงินบนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 825,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน จากผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยของเอ็ตด้า มีมูลค่าสูงถึง 2.03 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นมูลค่าที่รวมทั้งมูลค่าขายจาก B2B , B2C และ B2G ซึ่งรวมไปถึงมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐด้วย และในปี 2558 มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยยังมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 3.65 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน จะเติบโตและมีมูลค่าสูงถึง 34,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ยิ่งทำให้ระบบการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมบนออนไลน์ หรือ e-Authentication ทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ในปี 2559 นี้ เอ็ตด้า เตรียมเปิดทดสอบให้บริการ “ระบบการยืนยันตัวตนกลาง” แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในขั้นต้นจะเริ่มเชื่อมต่อกับหน่วยงานด้านการส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศ อาทิ หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตในการส่งออก ใบรับรองสินค้าต่างๆ เป็นกลุ่มแรก ซึ่งในส่วนนี้ ทางสพธอ. ได้เริ่มโครงการนำร่องในการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นแกนกลางในการยืนยันตัวตนเพื่อ เชื่อมโยงผู้รับบริการเข้ากับผู้ให้บริการ (Service Provider) ผ่านทางออนไลน์ โดยมีกำหนดระยะเวลาในการทดสอบเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2560 และพร้อมที่ขยายไปยังสินค้าและอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพต่อไป
พร้อมกันนั้น เอ็ตด้าเตรียมร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่าย และธนาคาร ในการนำ“ระบบการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์” (Wireless Digital Signing) เข้ามาพัฒนาและทดสอบการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ใช้จะสามารถใช้มือถือเป็นอุปกรณ์ (token) ในการสร้างชุดรหัสเพื่อยืนยันการเข้าทำธุรกรรม และลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยระดับสูงในการป้องกันการปลอมแปลงลายมือชื่อและการลักลอบขโมยหรือแก้ไขข้อมูลในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transactions Framework) ภายใต้แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 (ASEAN ICT Masterplan 2015)
สำหรับการพัฒนา e-Authentication นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีก 9 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ก็จะเริ่มดำเนินการตามข้อกำหนดของกรอบการทำงานระหว่างกันต่อไป
ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ
ที่มา : www.etda.or.th วันที่ : 30 มีนาคม 2559
HMD Fusion สมาร์ทโฟนที่สามารถปรับแต่งและซ่อมเองได้ด้วยมือคุณ!
Motorola ก้าวสู่ยุคใหม่แห่ง AI ด้วย Moto AI และ Smart Connect
iQOO Neo 10 Series สเปคเทพ กล้องสวย ดีไซน์โดนใจ เปิดตัว 29 พฤศจิกายนนี้
ทำความรู้จัก HONOR 200 Smart 5G หน้าจอ 120Hz ทนน้ำทนฝุ่น IP64 กล้องหลัง 50MP AI Motion Sensing
Redmi ฉลอง 11 ปี ปล่อยโลโก้ใหม่! พร้อมเปิดตัว Redmi K80 เรือธงสเปคจัดเต็ม
รีวิว HONOR 200 Smart 5G คุ้มค่าเกินราคา สุดยอดสมาร์ทโฟนสำหรับคนชอบลุย12 ชั่วโมงที่แล้ว