แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 5 มกราคม 2558

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 6 เดือน ก่อนที่ไมโครซอฟท์จะยุติ การให้บริการสนับสนุนระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 และ 2003 R2 ที่มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 11 ปี ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 นี้ เป็นต้นไป โดย ไมโครซอฟท์ ได้ออกมาแนะนำให้องค์กรต่างๆ ได้เตรียมการแต่เนิ่นๆ ในการอัพเดทระบบไปสู่ระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ทันสมัย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่ตามมา และเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมไอที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการบำรุงรักษาระบบที่ไม่ทันสมัย และเป็นการรองรับการใช้งานซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ จำเป็นต้องยุติการสนับสนุน Windows Server 2003 ด้วยเหตุผลทั้งในด้านการใช้งานและด้านเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากได้มีการพัฒนาไปอย่างมากในช่วงระยะเวลา 11 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ Windows Server 2003 นอกจากนี้ Windows Server 2003 ยังไม่สามารถมอบประสิทธิภาพการทำงานทั้งด้านความคล่องตัวและความสามารถในการปรับการใช้งานได้เทียบเท่ากับความต้องการของลูกค้าปัจจุบันเช่นกัน

ที่สำคัญ เพื่อให้เป็นการดำเนินตามกฏระเบียบข้อบังคับตามมาตรฐานสากล และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เพื่อไม่ให้ระบบกลายเป็นเป้าในการถูกโจมตีโดยอาชญากรรมไซเบอร์ เนื่องจากช่องโหว่จากการใช้งานซอฟต์แวร์ที่สิ้นสุดอายุการใช้งาน นับว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของระบบขององค์กร รวมถึงความเสียหายทางธุรกิจมากมายที่จะตามมา ตามกฏข้อบังคับด้านระบบไอทีมาตรฐานระดับโลกเกือบทุกแห่ง ต่างระบุ แต่ละองค์กรควรจะต้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อปกป้องข้อมูลและควบคุมบริหารจัดการระบบไอทีให้ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับโลก อย่าง HIPAA (Health Insurance Portability and Accountability Act) หรือมาตรฐานความปลอดภัยว่าด้วยการทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์ หรือ PCI DSS (the Payment Card Industry (PCI) Data Security Standard (DSS) ซึ่งธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ต่างเป็นสมาชิก องค์กรจำเป็นต้องมีการดูแลให้ซอฟต์แวร์ได้รับการปกป้องจากการถูกโจมตี รวมถึงการคอยอัพเดทระบบรักษาความปลอดภัยให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ หากองค์กรใดไม่มีการอัพเดทก็จะถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฏข้อบังคับทันที หากพบว่าระบบมีช่องโหว่หรือมีจุดอ่อน ซึ่งง่ายต่อการถูกจารกรรมข้อมูล และก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจตามมามากมาย

การอัพเกรดจาก Windows Server 2003 สู่ระบบปฏิบัติการเซิร์ฟเวอร์ที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยมากกว่าจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่เช่นนั้นแล้วองค์กรจะเผชิญกับความยากลำบาก ดังนี้

  • ไม่มีอัพเดต

ไมโครซอฟท์จะไม่มีการพัฒนาหรือส่งการอัพเดตสำหรับผลิตภัณฑ์หลังจากสิ้นสุดการสนับสนุนอีกต่อไป ทั้งนี้เฉพาะในปี 2557 ปีเดียว ไมโครซอฟท์ได้ส่งอัพเดตสำคัญสำหรับ Windows Server 2003/R2 รวม 37 รายการ การใช้งานโดยปราศจากอัพเดตจะทำให้องค์กรต่างๆ เสี่ยงต่อการถูกจารกรรมข้อมูลหรือความเสียหายโดยที่ไม่ทราบได้

  • ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

หลังสิ้นสุดการสนับสนุน องค์กรต่างๆ จะไม่สามารถผ่านข้อบังคับและกฏระเบียบด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อธุรกิจหรือส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในแง่ของค่าธรรมเนียมการดำเนินงานที่สูงขึ้นและค่าปรับต่างๆ

  • ค่าใช้จ่ายสูง

ค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารและดูแลรักษาเซิร์ฟเวอร์ที่เก่าล้าสมัยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าซ่อมบำรุงสำหรับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงองค์กรยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนของการติดตั้งใช้งานระบบตรวจจับการบุกรุกหรือระบบไฟร์วอลล์ที่ล้ำสมัยด้วย

  • พิจารณาตัวเลือกเพื่อใช้งานแทน Windows Server 2003

ในปัจจุบันนี้ นอกจากตัวเลือกการอัพเกรดระบบปฏิบัติการเซิร์ฟเวอร์เป็นรุ่นที่ทันสมัย ยังมีทางเลือกการใช้บริการหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในตัวเลือกเหล่านั้นคือ การโอนย้ายระบบเซิร์ฟเวอร์และแอพพลิเคชันต่างๆ ไปบนระบบคลาวด์ ซึ่งลูกค้าสามารถบริหารจัดการเองได้ และมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เช่น ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ (Microsoft Azure) หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ การลดภาระด้านการดูแลรักษาเซิร์ฟเวอร์และหันไปใช้บริการด้านซอฟต์แวร์แบบ SaaS (Software as a Service) เช่น ออฟฟิศ 365 (Office 365) เป็นต้น

นางสาวสุชาลักษณ์ สรณานุสรณ์ ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจสินค้าคลาวด์และเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ มีความเป็นห่วงถึงผลกระทบทั้งด้านธุรกิจและชื่อเสียงขององค์กรที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย หากองค์กรยังไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อที่จะย้ายไปสู่ระบบปฏิบัติการที่ทันสมัย ภายหลังการยุติการสนับสนุน วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 สำหรับองค์กรที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและความคุ้มค่าต่อการลงทุน สามารถย้ายแอพพลิเคชั่นและระบบงานต่างๆ ไปสู่ระบบคลาวด์แบบสาธารณะ หรือ Public Cloud โดย สามารถเลือกใช้งาน ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ แพลตฟอร์มคลาวด์ที่มีความยืดหยุ่นสูง พร้อมรองรับทุกการใช้งาน และช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้งานและจัดการแอพพลิเคชันได้จากทุกที่ทั่วโลก ผ่านทางเครือข่ายศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ ผู้พัฒนาแอพสามารถสร้างสรรค์โปรแกรมโดยใช้ภาษาหรือเครื่องมือใดก็ได้บนอาชัวร์ และ ยังสามารถผนึกเอาแอพคลาวด์เหล่านี้เข้ากับระบบไอทีที่มีอยู่เดิมได้อีกด้วย”

“ผู้บริหารระดับ CIO ทุกท่านต่างต้องการมีรากฐานระบบไอทีที่ทันสมัย การใช้เทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อให้องค์กรสามารถรองรับความต้องการในด้านแอพ การใช้งานอุปกรณ์พกพา และการวิเคราะห์ข้อมูล ทุกวันนี้ เทคโนโลยีได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญจนขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรจะเตรียมพร้อมก้าวสู่ยุค ‘mobile first, cloud first’ หลังการยุติการให้การสนับสนุนวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 และ 2003 R2 ภายใต้วิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ ที่มุ่งนำเสนอระบบคลาวด์ในรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และมีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสูง”

“ส่วนองค์กรที่ใช้งานเซิร์ฟเวอร์บนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 เพื่อให้บริการด้านอีเมลและการติดต่อสื่อสาร สามารถเลือกใช้ออฟฟิศ 365 บริการคลาวด์เพื่อการสร้างสรรค์และประสานงานที่ครบครันด้วยแอพพลิเคชันออฟฟิศที่คุ้นเคย พร้อมด้วยบริการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Lync และ Skype สำหรับการสนทนาออนไลน์ Exchange Online สำหรับอีเมล OneDrive สำหรับการเก็บข้อมูลบนคลาวด์” นางสาวสุชาลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโอนย้ายระบบ สามารถศึกษาได้ที่ http://migrationplanningassistant.azurewebsites.net/

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่