แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 27 พฤษภาคม 2557

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ผลสำรวจล่าสุดจาก สวนดุสิตโพล ร่วมกับ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เผยว่า ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ชาวไทย มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบซอฟต์แวร์เถื่อนอยู่ในระดับต่ำ โดยร้อยละ 55.67 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ทราบวิธีการตรวจสอบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าอาชญากร ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบความปลอดภัย และมัลแวร์ที่มักจะมากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อขโมยข้อมูลในเครื่อง หรือ ดักจับรหัสการใช้งานเพื่อแอบอ้างเข้าทำธุรกรรมออนไลน์ทางการเงิน สร้างความเสียหายต่อทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและองค์กรธุรกิจ

ผลการสำรวจดังกล่าวมีชื่อว่า “ทัศนคติ และความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ของผู้ใช้งานชาวไทย” โดยกลุ่มตัวอย่างมีทั้งผู้ที่กำลังจะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ โน้ตบุ๊กเครื่องแรก และกำลังจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ โดยในภาพรวม กลุ่มตัวอย่างจำนวนเพียงไม่ถึงครึ่ง (ร้อยละ 44.33) ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็น เช่น ดูออกว่ากล่องของซีดีหรือ ดีวีดีต้องมีการแพ็คซีลมาอย่างเรียบร้อย มีฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ ตัวหนังสือบนกล่องสะกดถูกต้อง ไม่ใช่เป็นซองพลาสติกใสวางขายตามแหล่งน่าสงสัย แต่เมื่อแยกตามกลุ่มอาชีพแล้ว พบว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งกลับเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบซอฟต์แวร์น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 30.86 เท่านั้น ต่ำกว่ากลุ่มอาชีพค้าขายซึ่งมีจำนวนร้อยละ 37.93 ส่วนพนักงานบริษัทที่ตรวจสอบเป็นมีจำนวนร้อยละ 51.56

ในยุคสมัยที่หลายคนใช้ชีวิตออนไลน์ และ ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการติดต่อ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ในหลายๆ ครั้ง มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารสำคญต่างๆ ไว้ในเครื่อง หรือบางคนเก็บไว้กับบริการรับฝากไฟล์ออนไลน์ (Cloud) การปกป้องความเป็นส่วนตัวนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าหากมีการลักลอบเข้าระบบ ผู้ไม่หวังดีสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้ ระบบความปลอดภัยของเครื่องที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนนั้น จะถูกจำกัดลงอย่างมากเนื่องจากซอฟต์แวร์เถื่อน มักจะมีมัลแวร์ติดมาด้วย และในเมืองไทยเอง เครื่องที่ใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนนั้นติดมัลแวร์มากถึงร้อยละ 84*

“ผู้ใช้งานต้องมองเรื่องความปลอดภัยให้รอบด้าน เพราะว่าโลกทุกวันนี้เชื่อมต่อถึงกันหมดด้วยเครือข่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มผู้ที่จ้องจะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบความปลอดภัยในซอฟต์แวร์เถื่อน เพื่อเข้าถึงและนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้มากทีเดียว เพราะว่าหลายคนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลในแง่สิทธิในความเป็นส่วนตัว และไม่ได้มองว่าข้อมูลส่วนตัวนั้น เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องเช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆ จึงประมาทในการใช้งาน ซึ่งเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว ความเสียหายอาจจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงินหรือมูลค่าทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่บางครั้งอาจทำให้เสียชื่อเสียงด้วย ซึ่งไม่สามารถเรียกกลับคืนได้เลย” ดร.นคร เสรีรักษ์ ผู้ก่อตั้ง Privacy Thailand ที่ปรึกษานโยบาย เครือข่ายพลเมืองเน็ต และ นักวิชาการอิสระด้าน Freedom of Information and Privacy Protection กล่าว

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73 ทราบดีว่าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะมีมัลแวร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดี รวมถึงอาชญากรคอมพิวเตอร์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่เก็บไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือไฟล์เอกสารสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มตัวอย่างอีกจำนวนหนึ่งยอมเสี่ยงที่จะเจอเหตุการณ์ดังกล่าว โดยแลกกับความสะดวกเพียงเล็กน้อย โดยร้อยละ 25.28 ให้เหตุผลว่าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หาซื้อได้ง่ายกว่า และมีกลุ่มตัวอย่างอายุ 26-30 ปี จำนวนถึง 1 ใน 4 ที่ตอบว่าเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เปล่าต้องการให้พนักงานลงโปรแกรมให้เลยเพื่อความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ตนกำลังปล่อยให้เครื่องโดนติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจนำภัยมาสู่ตัวเองได้โดยไม่รู้

“ด้วยวิสัยทัศน์ ‘We Make 70 Million Lives Better’ ของเรา ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นในการปกป้องและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้ระวังตัวจากการดาวน์โหลดหรือซื้อซอฟต์แวร์เถื่อน เพราะว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ติดมัลแวร์ และนำไปสู่การขโมยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสูญหาย และระบบล่มได้ ตัวเลขการสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ มีความเข้าใจถึงอันตรายอยู่บ้าง แต่ยังยอมเสี่ยงโดยแลกกับความสะดวกสบายในการหาซื้อ และคิดว่าอันตรายเหล่านั้นจะไม่เกิดกับตัวเอง แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้จัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ ของไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft Cybercrime Center ขึ้นมา เราสามารถบอกได้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการโจมตีโดยอาชญากรไซเบอร์ โดยอาศัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์เถื่อนสูงมาก” นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว


กลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 31.03 ระบุว่า การแก้ปัญหาการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนนั้น ควรจะแก้ด้วยการให้ข้อมูลและปลูกจิตสำนึก เพื่อทำให้ผู้ใช้งานมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และร้อยละ 27.49 ระบุว่าควรจะทำให้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์มีวางจำหน่ายกว้างขวาง และหาซื้อง่ายกว่านี้ ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางของไมโครซอฟท์ในการทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ได้อย่างปลอดภัยที่สุด และเข้าถึงสินค้าลิขสิทธิ์ได้ง่าย โดยปัจจุบันไมโครซอฟท์มีบริการ Office 365 ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดชุดโปรแกรม Microsoft Office จากไมโครซอฟท์มาใช้งานและชำระเงินผ่านหน้าเว็บได้เลย และยังเลือกชำระเป็นรายปี หรือรายเดือน เพื่อทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานอีกด้วย และเมื่อผู้ใช้งานใช้ซอฟต์แวร์ของแท้ ก็สามารถมั่นใจได้ว่า จะไม่มีความเสี่ยงที่จะติดมัลแวร์ที่มักจะมากับซอฟต์แวร์เถื่อนแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานทั่วไป ธุรกิจรายย่อย สถานประกอบการ หรือองค์กรของรัฐบาล ทั้งหมดนี้ควรจะเลือกซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ซอฟต์แวร์ของเพื่อหลีกเลี่ยงมัลแวร์ ที่นำไปสู่อันตรายในการใช้งาน โดยลูกค้าควรเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมัลแวร์ที่ http://www.microsoft.com/security เพื่อให้มั่นใจว่าคอมพิวเตอร์ของตนไม่ติดมัลแวร์ และหากพบว่าเครื่องของคุณมีมัลแวร์ ทางเว็บไซต์ก็มีเครื่องมือในการกำจัด

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่