แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 18 มีนาคม 2557

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระสำคัญ ดังนี้

เรื่องที่ 1 ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 60 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 54 ราย กิจการบริการสาธารณะ 3 ราย และกิจการบริการชุมชน 3 ราย รวมทั้งสิ้นถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ทั่วประเทศ 4,136 ราย

เรื่องที่ 2 ที่ประชุม กสท. อนุมัติผลวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ เอ แอล โครงข่ายระดับท้องถิ่น จังหวัดพะเยา และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีดเคเบิ้ลทีวี โครงข่ายระดับท้องถิ่น จังหวัดอุดรธานี

เรื่องที่ 3 ที่ประชุม กสท. อนุมัติผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ดังนี้

กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตสำหรับบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เป็นครั้งแรก จำนวน 6 ช่องรายการ อายุใบอนุญาต 1 ปี ได้แก่

  • บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ได้แก่ ช่อง Aljazeera (ข่าวทั่วไป) และ ช่อง ASN2 (กีฬา)
  • บริษัท ยูริมิโกะมีคุณมีเรา จำกัด ได้แก่ ช่อง มีคุณ ทีวี (ปกิณกะบันเทิง)
  • บริษัท สมาร์ท ซัคเซส มีเดีย จำกัด ได้แก่ ช่อง สมาร์ท ทีวี (ปกิณกะบันเทิง)
  • บริษัท 888 แสนล้าน จำกัด ได้แก่ ช่อง68 Channel (ปกิณกะบันเทิง)
  • บริษัท พีทีวี เคเบิลเน็ทเวิร์ค จำกัด ได้แก่ ช่อ พี ทีวี (ข่าวทั่วไป)

กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตสำหรับบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ยื่นคำขอใหม่ แต่ไม่ได้ยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีใบอนุญาตสิ้นอายุ และไม่ปรากฏว่าเคยละเมิดต่อเงื่อนไขการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อายุใบอนุญาต 2 ปี ได้แก่

  • บริษัท ออโต้-ไลฟ จำกัด ได้แก่ ช่องรายการ Grand Prix Channel (ปกิณกะบันเทิง)
  • บริษัท อาร์เอสยู ทีวี จำกัด ได้แก่ ช่อง RSU WISDOM TV (ข่าวทั่วไป)
  • บริษัท สปีด แชนแนล จำกัด ได้แก่ ช่อง Speed Channel (ปกิณกะบันเทิง)

เรื่องที่ 4 ที่ประชุม กสท. อนุมัติ(ร่าง) เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ

เรื่องที่ 5 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) และเตรียมนำเสนอที่ประชุมกสทช.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

เรื่องที่ 6 ที่ประชุม กสท. พิจารณาหลักการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ดังนี้

  • การสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ มาตรา 52(1) แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 
  • การสนับสนุนให้ดำเนินการโดยวิธีการแจกคูปอง โดยนำไปใช้แลกซื้ออุปกรณ์ที่สามารถรับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลได้โดยไม่จำกัดช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง โดยอุปกรณ์ดังกล่าวต้องรองรับการแสดงผลตามมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition) และมีการรับประกันคุณภาพตามที่กสท.กำหนด
  • การสนับสนุนในการรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (DVB-T2) ให้รวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์สายอากาศ (Indoor/outdoor Antenna) ด้วย
  • มูลค่าของคูปองต้องเพียงพอสำหรับการแลกซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการรับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
  • การสนับสนุนของประชาชนให้สนับสนุนทุกครัวเรือนตามทะเบียนราษฎร เป็นลำดับแรก และให้สนับสนุนเพิ่มเติมกับกลุ่มที่อยู่นอกทะเบียนราษฎรที่ได้รับการรับรองจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นลำดับถัดไป

  • กรอบเวลาการสนับสนุนให้ดำเนินการตามกรอบเวลาของการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยประชาชนควรได้รับการแจกคูปองหลังการเริ่มออกอากาศบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในพื้นที่แล้ว
  • การสนับสนุนในกรณีประชาชนไม่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือกรณีเกิดสัญญาณรบกวนระหว่างสัญญาณระบบอนาล็อกกับสัญญาณระบบดิจิตอลในช่วงการออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ให้คำนึงถึงการบริการด้านโทรทัศน์อย่างทั่วถึง
  • การสนับสนุนคูปองเป็นการใช้เงินจากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จึงควรคำนึงถึงการไม่นำไปใช้สนับสนุนกิจการที่เป็นคู่แข่ง
  • กระบวนการแจกคูปอง การใช้คูปอง ตลอดจนการนำคูปองที่ใช้แล้วไปรับเงินสนับสนุน ควรเป็นขั้นตอนที่ง่าย ชัดเจน สะดวก โปร่งใส และตรวจสอบได้
  • เรื่องที่ 7 ที่ประชุม กสท. มีมติจากกรณีบริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ผู้ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) โดยศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556ยกคำร้องของบริษัทฯ ดังนั้น ประกาศ Must Have จึงยังมีผลบังคับใช้กับการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ทุกนัด โดยผ่านช่องทางการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ ฟรีทีวี เท่านั้น

ทั้งนี้ บริษัท อาร์เอส อินเตอร์ฯ ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย แต่ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ดังนั้น บริษัทอาร์เอส อินเตอร์ฯจึงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในบังคับของประกาศ Must Have ขณะที่ บริษัท อาร์เอสฯซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ประเภทช่องรายการ (ช่อง 8) และเป็นผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล หมวดหมู่ความคมชัดปกติ หากต้องการนำรายการดังกล่าวมาออกอากาศในบริการโทรทัศน์ของตน จะต้องอยู่ภายใต้ประกาศ Must Have คือ ต้องถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขัน 64 นัด ออกอากาศผ่านช่องฟรีทีวีเท่านั้น หากต้องการนำรายการดังกล่าวไปถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ในรูปแบบอื่น เช่น ดาวเทียมหรือเคเบิ้ล จะต้องได้รับอนุญาตจาก กสท.ก่อน

ดังนั้น การที่บริษัทอาร์เอสฯออกมาให้ข่าว โดยยืนยันที่จะถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้ายผ่านฟรีทีวี ช่อง 7 ในระบบอนาล็อกเดิมหรือ ช่อง 8 ในระบบดิจิตอล หมวดหมู่ทั่วไปความคมชัดปกติ เพียง 22 นัด จึงเป็นการโฆษณาและให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนไม่สอดคล้องกับประกาศ Must Haveที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ การให้ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นการจูงใจประชาชนให้ซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมเพื่อรับชมการแข่งขัน ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

จากกรณีดังกล่าว ทางกสท.จึงมีมติดังนี้

  1. แจ้งเตือนให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียมหรือเคเบิ้ล และผู้ให้บริการช่องรายการ ปฏิบัติตามประกาศ Must Have โดยเคร่งครัด พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน
  2. มีหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัทอาร์เอสฯ ปฏิบัติตามประกาศ Must Have โดยเคร่งครัดและให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลที่มีลักษณะขัดหรือแย้งกับประกาศ Must Have แก่ประชาชน พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน
  3. มีหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัท เค มาสเตอร์ จำกัดให้ปฏิบัติตามประกาศ Must Haveและประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 โดยเคร่งครัด พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน
  4. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งให้บริษัท อาร์เอส อินเตอร์ฯ และบริษัทในเครือระงับการให้ข้อมูลต่อประชาชนเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ที่เป็นการขัดหรือแย้งกับประกาศ กสทช. พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

ที่มา : www.nbtc.co.th วันที่ : 18 มีนาคม 2557

มือถือออกใหม่