กล้องถ่ายภาพ (Action Camera)  |   วันที่ : 20 ธันวาคม 2556

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

หากกล่าวถึง "แอนดรอยด์ (Android)" หลายๆ คนคงคุ้นชื่อหรือรู้จักกันเป็นอย่างดี และคงชวนให้นึกถึงสัญลักษณ์รูปหุ่นยนต์สีเขียว และบริษัท Google อย่างแน่นอน แต่อาจยังมีอีกหลายๆ คนที่อาจจะยังไม่รู้จักหุ่นเขียวตัวนี้ว่าคืออะไร? และมีที่มาอย่างไร? บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับน้องหุ่นเขียวผู้น่ารักตัวนี้ของ Google ให้มากขึ้นอีกนิด

แอนดรอยด์ (Android) คืออะไร?

แอนดรอยด์ (Android) เป็นระบบปฎิบัติการ (OS) แบบเปิด (Open Source) ที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท แอนดรอยด์ (Android Inc.) โดยมีพื้นฐานการพัฒนาอยู่บนระบบปฏิบัติการ Linux และใช้สัญลักษณ์ (Logo) ของ OS เป็นรูปหุ่นยนต์สีเขียว และนอกจากนี้ Android OS ยังถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับใช้งานบนอุปกรณ์ที่มีหน้าจอสัมผัส เช่นสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นเราเลยสามารถพบเห็น Android OS บนอุปกรณ์ต่างๆ มากมายเช่น นาฬิกา, โทรทัศน์, วิทยุระบบสัมผัสในรถยนต์, สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของหุ่นเขียวแอนดรอยด์ (Android)

แอนดรอยด์ (Android) OS ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาจากบริษัท แอนดรอยด์ (Android Inc.) โดยมีนาย Andy Rubin กับเพื่อนร่วมกันก่อตั้งบริษัทขึ้นมาและในปี 2005 Google ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทและแต่งตั้งให้เป็นบริษัทในเครือของ Google ต่อมาในปี 2007 Google ได้ทำการเปิดตัวแอนดรอยด์สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกพร้อมกับการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางธุรกิจโดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผู้ผลิตฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, ฯลฯ เข้าร่วมกลุ่มมากมายและในปีถัดมา Google ได้ทำการเปิดตัวสมาร์ทโฟน HTC Dream (HTC G1) ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่รันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และนับเป็นจุดเริ่มต้นของแอนดรอยด์ที่เข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟน

HTC Dream ( HTC G1)

เวอร์ชั่นของแอนดรอยด์ ( Android)

เวอร์ชั่นของแอนดรอยด์ (Android) นั้นมีผลต่อการใช้งานด้วยเช่นกัน เนื่องจากในแต่ละเวอร์ชั่นจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ใช้งานได้ดีขึ้นจากเวอร์ชั่นก่อนอยู่เสมอ ดังนั้นจึงนับเป็นปัจจัยนึงในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มาใช้งานด้วยเช่นกัน และชื่อในแต่ละเวอร์ชั่นก็จะถูกตั้งชื่อเป็นขนมต่างๆ และจะมีการเรียงลำดับตัวอักษรไปเรื่อยๆ (A-Z)

  • เวอร์ชั่น 1.0  Apple pie/ Astro (ไม่ยืนยันชื่อ)
    • เป็นเวอร์ชั่นแรกของแอนดรอยด์ที่ใช้เปิดตัวสู่สาธารณชน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
  • เวอร์ชั่น 1.1  Banana bread/Bender (ไม่ยืนยันชื่อ)
    • ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
  • เวอร์ชั่น 1.5  Cupcake
    • เป็นเวอร์ชั่นที่เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค และนับเป็นจุดเริ่มต้นของแอนดรอยด์ในตลาดสมาร์ทโฟน
  • เวอร์ชั่น 1.6  Donut
    • มีการปรับปรุงและเพิ่มคุณสมบัติด้าน Voice Control เข้ามา
  • เวอร์ชั่น 2.0-2.1   Eclair
    • มีการปรับปรุงการทำงานของหน้า UI และเพิ่มคุณสมบัติการใช้งานกล้องให้หลากหลาย
  • เวอร์ชั่น 2.2   Froyo
    • มีการเพิ่มคุณสมบัติด้านการแชร์อินเตอร์เน็ตให้กับ Device อิ่นๆ (WiFi Hotsprt,Tethering)
  • เวอร์ชั่น 2.3   Gingerbread
    • เป็นเวอร์ชั่นแอนดรอยด์ที่มีคนรู้จักมากที่สุดและมีการรันบนสมาร์ทโฟนมากที่สุดนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก
  • เวอร์ชั่น 3.0-3.1   Honeycomb
    • เป็นเวอร์ชั่นที่ถูกพัฒนาสำหรับแท็บเล็ตโดยเฉพาะมีการเพิ่มคุณสมบัติการแสดงผลบนหน้าจอแบบ 3D 
  • เวอร์ชั่น 4.0    Ice cream sandwich
    • เป็นเวอร์ชั่นที่รวมการทำงานระหว่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนเข้าด้วยกัน (โดยไม่ต้องแยกเวอร์ชั่น) และมีการนำเทคโนโลยี NFC (Android Beam) เข้ามาใช้งาน
  • เวอร์ชั่น 4.1-4.3   Jelly Bean
    • เป็นเวอร์ชั่นที่มี Series มากที่สุดของแอนดรอยด์และมีการเพิ่มคุณสมบัติการทำงานให้ลื่นขึ้นและเสถียรมากขึ้นด้วยโปรเจ็ค Project Butter 
  • เวอร์ชั่น 4.4     Kitkat (ล่าสุด)
    • เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดของแอนดรอยด์ ณ ตอนนี้ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมให้เสถียรมากขึ้นและเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ เข้ามาให้สะดวกในการใช้งานมากขึ้น

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวอร์ชั่นแอนดรอยด์

ทำไมแอนดรอยด์ (Android) ถึงมีสมาร์ทโฟนหลายรุ่นหลายราคา?

เนื่องจากแอนดรอยด์ (Android) เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด (Open Source) ที่ Google อนุญาติให้ผู้ผลิตสามารถนำไปปรับแต่ง, ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับ Device ของผู้ผลิตเองได้อย่างอิสระ จึงทำให้ Android OS ถูกนำไปใช้ใน Device ต่างๆ จากหลากหลายบริษัทผู้ผลิต จากเหตุผลนี้เองจึงทำให้เราเห็นสมาร์ทโฟนที่รันบน Android OS หลากหลายรุ่นและหลากหลายราคา

มีวิธีการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์อย่างไร?

หลักในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่องนึงของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากหลายๆ คนมีปัจจัยประกอบการตัดสินใจที่แตกต่างกัน เช่นราคา, งบประมาณ, การใช้งานในชีวิตประจำวัน ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์ได้ตรงตามการใช้งานของเราและไม่ทำให้เราเดือดร้อน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการเลือกซื้อและทำให้เรามีความสุขกับสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่อีกด้วย

5 เหตุผลดีๆ ที่ทำให้แอนดรอยด์ (Android) น่าสนใจ

1. แอนดรอยด์ (Android) มาพร้อมบริการของ Google ที่ครบครั้น เช่นGmail, Google Search, Google Now, Google Drive, Google Map, Google+ ฯลฯ เป็นต้น เหมาะกับผู้ใช้งานที่ใช้บริการของ Google ในการทำงานในชีวิตประจำวัน

2. อิสระในการใช้งาน ด้วยความที่แอนดรอยด์ (Android) เป็น OS ระบบเปิดทำให้ผู้ใช้งานมีอิสระในการปรับแต่งส่วนต่างๆ ของแอนดรอยด์ให้ได้ตรงตามความต้องการในการใช้งานของผู้ใช้งาน เช่น การเปลี่ยน UI ด้วยการใช้แอพฯ ประเภท Launcher, การเพิ่ม Widget บนหน้าจอ ฯลฯ เป็นต้น

3. ความยืดหยุ่นในการใช้งาน สมาร์ทโฟนที่รันบน Android OS ส่วนใหญ่จะสามารถใช้งาน Micro SD Card ได้ จากความสามารถนี้เองทำให้เราสามารถถ่ายโอนไฟล์งาน, รูปภาพ, เพลง ได้อย่างอิสระหรือแม้แต่การเลือกเพิ่มหรือลดหน่วยความจำภายนอกก็สามารถทำได้ตามต้ิองการ นอกจากนี้ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์หลายๆ รุ่นมีการนำเทคโนโลยี NFC เข้ามาใช้งานทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้สะดวกสบายมากขึ้น

4. ความหลากหลายของผู้ผลิต สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Android) ผลิตขึ้นจากหลากหลายผู้ผลิต ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้มีสิทธิ์ในการเลือกซื้อเลือกใช้สมาร์ทโฟนให้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น และด้วยการที่มีผู้ผลิตหลายค่ายนี้เองทำให้เกิดการแข่งขันกันสูงไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี, ด้านการตลาด, ด้านฮาร์ดแวร์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้รับประโยชน์ไปด้วย

5. การเข้าถึงผู้บริโภค จากเหตุผลในข้อ 4 ทำให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้หลากหลายและเข้าถึงได้ทุกวัยด้วยราคาและฟังก์ชั่นที่มีให้เลือกใช้งานมากมาย

 

 

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่