แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 8 พฤษภาคม 2556

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government ลำดับสูงขึ้น และมาอยู่ที่อันดับที่ 20 จากการสำรวจของมหาวิทยาลัย วาเซดะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาเรื่องนี้โดยตรง ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนามาอย่างถูกทาง และทาง ICT กับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้วางแผนการพัฒนาระบบ e-Government ของประเทศไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยวาเซดะอย่างเป็นระบบ โดยวางเป้าหมายให้ประเทศไทยขยับอันดับขึ้นมาอยู่ที่ 15 ของโลก

แผนงานที่จะดำเนินการหลังจากนี้คือ การขยายการทำงานของประเทศไทยให้เข้าไปมีบทบาทใน APEC e-Government Research Center โดยมีมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่นเป็นแกนหลัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเสนอต่อที่ประชุมอาเซียน โดยบทบาทของไทยผ่าน EGA นั้น จะเข้าไปร่วมวิจัยติดตามและประเมินความก้าวหน้าด้าน IT ของ APEC หรือ e-APEC เพื่อทำให้เกิดการทำงานและเชื่อมต่อกับระบบให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนได้

นอกจากนั้น กิจกรรมของ APEC e-Government Research Center ยังเตรียมการเพื่อร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นด้าน e-Government ในการประชุม APECTEL ในครั้งต่อไป ซึ่งจะทำให้ไทยมีบทบาทสำคัญทางด้านไอทีและโทรคมนาคมของภาครัฐในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมการจัดทำ Data Bank หรือคลังข้อมูลสำหรับ e-Government เพื่อรองรับบรรดาสมาชิกทางด้านเศรษฐกิจ และเข้าไปดูแลด้านการฝึกอบรมในหลักสูตรระยะสั้นๆ ให้แก่ CIO ผ่านระบบออนไลน์

โครงการ APEC e-Government Research Center เกิดจากความร่วมมือด้าน e-Government ขององค์กรด้าน e-Gov หลักจาก 4 ประเทศ คือ Institute of e-Government มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น, สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ประเทศไทย และอีกสองหน่วยคือ Infocom Development Authority of Singapore หรือ IDA และ Chinese Taipei’s Taiwan e-Governance Research Center หรือ TEG นอกจากนั้น ทาง ICT ยังได้เร่งพัฒนาระบบ e-Government ของไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ EGA ตามดัชนีชี้วัดที่สำคัญทั้ง 7 รายการของ Waseda e-Gov Ranking ตั้งแต่ความพร้อมของเครือข่าย/โครงสร้างพื้นฐาน ที่วัดกันตั้งแต่จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ มือถือจนถึงผู้ใช้พีซี โดยในปีนี้โครงการ Super GIN จะทำให้เครือข่ายของ e-Government ภายในประเทศครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานว่าทำให้ผู้ใช้ตระหนักรู้ถึงระบบมากน้อยเพียงใด จนถึงการหลอมรวมระหว่างระบบเก่า-ใหม่ และการจัดการด้านงบลงทุนระบบ รวมถึงแอพพลิเคชั่นย่อยๆ และตัวบทกฎหมายที่ควบคุมการใช้อี-กอฟเวิร์นเมนต์ เช่น กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์, ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์, ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และระบบบริการเกี่ยวกับประกันสังคมให้ประชาชน ก็จะมีการพัฒนาโดยหน่วยงานในสังกัดของ ICT มากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมีการขยายตัวไปอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มระดับช่องทางการสื่อสารบนหน้าโฮมเพจ ศักยภาพของผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีในภาครัฐ โปรโมชั่นส่งเสริมระบบอี-กอฟเวิร์นเมนต์ จนถึงระบบกลไกที่ทำให้อี-กอฟเวิร์นเมนต์ทำงานได้ประสบความสำเร็จ โดยหลังจากนี้จะมีการจัดกลุ่มหน่วยงานรัฐตามศักยภาพ และจะได้วางแนวทางการพัฒนาแต่ละกลุ่มที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ทางมหาวิทยาลัยวาเซดะได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการกำหนดแนวทางด้วย

สำหรับรายงานล่าสุดในการจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากล ของ Waseda University International e-Government Ranking 2013 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในอันดับที่ 20 จาก 55 ประเทศทั่วโลก เป็นการขยับสูงขึ้น 3 อันดับ จากปี 2555 ที่อยู่ในอันดับ 23 จาก 55 ประเทศ โดยอยู่ในลำดับที่ 2 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ และอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 20 ประเทศของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) จากรายงานดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความพยายามในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ซึ่งทำให้เห็นถึงจุดแข็งที่จะต้องส่งเสริมและจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไขและปรับปรุงต่อไป

ในระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ผลักดันงานต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่การศึกษา วิจัย พัฒนา และเสนอแนะแนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากการศึกษากรอบแนวคิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากล อาทิ การ์ทเนอร์ (Gartner) สถาบันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น และองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น พบว่า แนวโน้มการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากลนั้นได้ให้ความสำคัญกับหลักการ Open Government ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ความโปร่งใส (Transparency) 2. การมีส่วนร่วม (Collaboration) และ 3. การมีส่วน (Participation)

ทั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เห็นว่าประเทศไทยควรมีการกำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประเทศไทย (Thailand e-Government Readiness Framework) เพื่อประโยชน์ในการวางแผน การกำหนดนโยบาย ตลอดจนการดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ นอกจากนั้นแล้วหน่วยงานต่างๆ จะได้ทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง และนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนา และยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย รวมถึงต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับประเทศไทย เช่น โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network: GIN) และ โครงการบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service: G-Cloud) เป็นต้น และต้องมีการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ เช่น หลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Executive Program) และหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.)

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่