แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 5 มีนาคม 2556

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

การกระจายเสียงสดผ่านวิทยุในระบบดิจิตอลบนมาตรฐาน DAB+ จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ ระหว่างการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและการสาธิตเทคโนโลยีที่จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ สำนักงานสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู)

การจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 3 มีนาคม 2556 จะอาศัยอุปกรณ์ DAB+ และความเชี่ยวชาญจากทั้งออสเตรเลีย และยุโรป ซึ่งเป็นภาคพื้นที่มีการออกอากาศวิทยุในระบบดิจิตอล งานดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการสาธิตการทดสอบภาคสนามสดทั้งในกรุงเทพฯ และในเขตปริมณฑล พร้อมการนำเสนอระบบ DAB+ เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ การวางแผนเครือข่าย พร้อมเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงควรใช้ระบบดิจิตอล รวมถึงการมองในเรื่องของโครงสร้าง และการพิจารณากฏระเบียบในการเปิดใช้วิทยุในระบบดิจิตอล

ทั้งนี้ จะมีการจัดการสาธิตการส่งสัญญาณ เพื่อเป็นการแสดงความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ขึ้นที่ อสมท. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงในกรุงเทพฯ ได้รับประสบการณ์ก่อนใคร พร้อมทั้งเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในกรุงเทพฯ

พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า “เวิร์กช็อปครั้งนี้มาจากความริเริ่มของ กสทช. ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียงและประชาชนคนไทยจะได้เรียนรู้กี่ยวกับเทคโนโลยีวิทยุในระบบดิจิตอล ทั้งนี้ ทาง กสทช. เองวางแผนไว้ว่าจะมีการปรับมาใช้วิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลภายในปีหน้า และขณะนี้ได้ทำงานร่วมกับไอทียูในการออกโรดแมปเรื่องดังกล่าว” 

“วิทยุก็ยังคงเป็นช่องทางที่แพร่หลายและใช้สื่อสารกันในวงกว้าง เหมาะสำหรับการเข้าถึงผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก และวิทยุในระบบดิจิตอลยังให้ข้อได้เปรียบ เช่นสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี Metadata ซึ่งเป็นข้อมูลที่อธิบายรายละเอียดได้ดีและเหมาะสำหรับผู้มีความพิการ ทั้งนี้ ไอทียูยังคงมุ่งเน้นอย่างต่อเนื่องในการพัฒนามาตรฐานที่ช่วยให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีล้ำหน้าของวิทยุในระบบดิจิตอลทั่วโลกผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ภาพวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (Webcasting) การรับชมวิดีโอผ่านทางมือถือ (Mobile Streaming) ทางบล็อก และการเผยแพร่เสียงผ่านทางเว็บ (Podcasts) และทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเวิร์กช็อปครั้งนี้ในแสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างไอทียู และ กสทช. เป็นเวลานานนับหลายปี” ดร. อูน-จู คิม ผู้อำนวยการ สำนักงานสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าว

WorldDMB ได้รับเชิญให้เป็นผู้จัดงานงานเวิร์กช็อป หรืองานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการสาธิตให้กับวิศวกรอาวุโส และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยุในระบบดิจิตอล โดยงานเวิร์กช็อปจะแบ่งออกเป็นสองช่วงด้วยกัน คือส่วนที่เป็นเวิร์กช็อปสำหรับวันนี้ และวันอาทิตย์ และส่วนที่เป็นการสาธิตและการทดสอบภาคสนาม ในวันพรุ่งนี้

โจน วอร์เนอร์ ประธานคณะกรรมการ WorldDMB ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ผู้บรรยายของเวิร์กช็อป กล่าว “WorldDMB นำเสนอข้อมูลที่ครอบคลุมทุกแง่มุมให้กับผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงสำหรับการเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาเป็นดิจิตอล โดยเวิร์กช็อปและการสาธิตเหล่านี้ เป็นการบริการที่ต้องอาศัยความพยายามและต้องมีการทดสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ WorldDMB นำเสนอให้กับตลาดอื่นๆ ที่ประสบความความสำเร็จในการใช้ระบบ DAB+ เช่นกัน”

เวิร์กช็อปครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก WorldDMB รวมถึง Commercial Radio Australia (CRA) บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และ สถานีวิทยุกองทัพบก เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ที่มาจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และจากประเทศอื่นๆ 

รายละเอียดเกี่ยวกับเวิร์กช็อป สามารถเยี่ยมชมได้ที่
http://www.itu.int/ITU-D/asp/CMS/Events/2013/DR-Technologies/index.asp

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่