หน้าแรก สยามโฟน ดอท คอม
หน้าแรก : สยามโฟน ดอท คอม รวมมือถือออกใหม่ รีวิวมือถือ รีวิวโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มือถือ CDMA ข่าวมือถือ เปิดโลกไอที แท็บเล็ต พีซี Android แอนดรอยด์ ราคามือถือ ราคาโทรศัพท์มือถือ คำศัพท์มือถือ & เทคโนโลยี เวบบอร์ด ชุมชนผู้ใช้มือถือ ประกาศ ซื้อ-ขาย โทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์ไอที


รู้จัก 3G เพื่อความเข้าใจสู่โลกไร้สายยุคใหม่ ตอนจบ
โดย ไพโรจน์ ไววานิชกิจ - www.pairoj.com

“ Broadband Wireless Access นิยามใหม่แห่งการสื่อสารไร้สาย ”

Broadband Wireless Access คืออะไร - หากพิจารณาถึงบริการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีวิวัฒนาการจากอดีตจนกลายเป็นบริการหลักที่ได้รับความนิยมใช้

งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็จะพบว่าสามารถแบ่งเทคโนโลยีออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามพฤติกรรมของการใช้บริการ คือ บริการสื่อสารแบบมีสาย (Fixed Line หรือ Wire Line Communication) ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนามาจากการสื่อสารทางเสียงผ่านคู่สายโทรศัพท์ กับการสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless Communication) ซึ่งเริ่มพัฒนามาจากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรก ๆ ของโลก การสื่อสารเหล่านี้ล้วนถือเป็นการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมกับผู้ใช้บริการ (User-Network Interface) โดยบทความเรื่องนี้จะไม่กล่าวถึงการเชื่อมต่อกันเองภายในเครือข่ายโทรคมนาคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารด้านต่าง ๆ ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาขีดความสามารถของตัวกลางในการสื่อสารข้อมูลทั้งสองประเภท ซึ่งก็คือสายทองแดงในกรณีของการสื่อสารแบบใช้สาย และคลื่นความถี่วิทยุสำหรับการสื่อสารไร้สาย ให้สามารถรองรับการสื่อสารข้อมูลที่มีอัตราเร็วสูงยิ่งขึ้นได้ จนทำให้เกิดธุรกิจสื่อสารข้อมูลอัตราเร็วสูง ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อของ “ บรอดแบนด์ ” (Broadband) โดยเริ่มต้นจากการถือกำเนิดขึ้นของเทคโนโลยี DSL (Digital Subscriber Line) ซึ่งเป็นการสื่อสารโดยใช้สาย เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ยังผลให้ปัจจุบันประเทศจำนวนมากทั่วโลกมีการเปิดให้บริการสื่อสารแบบ ADSL (Asymmetric DSL) เพื่อรองรับการท่องเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย



รูปที่ 1 นิยามของกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดสำหรับบริการ Broadband Wireless Access

ในโลกของการสื่อสารแบบไร้สาย ก็มีวิวัฒนการของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากความสำเร็จอย่างงดงามในเชิงพาณิชย์ของมาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM และ CDMA ต่อเนื่องไปสู่การเปิดตลาดสื่อสารข้อมูลแบบ Non-Voice พร้อมข้อกำหนดสำหรับเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายยุค 2.5G และ 2.75G รวมถึงการก้าวไปสู่มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G สำหรับการรองรับข้อมูลไร้สายอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเทคโนโลยีทางเลือกทั้งแบบ UMTS และ cdma2000 ดังได้กล่าวถึงไว้ในบทความตอนแรก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายยังไม่อาจตามทันอัตราเร็วในการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายแบบมีสายได้ ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐาน 3G แบบ W-CDMA ซึ่งมีอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูล 384 กิโลบิตต่อวินาที ก็ยังถือว่าช้าเมื่อเทียบกับคู่สาย ADSL มาตรฐานที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลโดยเฉลี่ยที่ 512 กิโลบิตต่อวินาที แต่การสื่อสารแบบไร้สายก็ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการใช้งานในขณะเคลื่อนที่ (Mobility) และยังสามารถใช้งานข้ามพื้นที่ (Roaming) ได้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ในกรณีของการสื่อสารแบบมีสาย โดยเฉพาะ DSL มาตรฐานต่าง ๆ

เมื่อพิจารณาความเป็นจริงของการสื่อสารทั้งสองประเภทแล้ว ก็พบว่าตลาดสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบัน ยังมีช่องว่างที่สามารถพัฒนาให้เกิดเป็นมูลค่าขึ้นได้ ด้วยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่สนใจการสื่อสารแบบรอดแบนด์พร้อม ๆ กับต้องการใช้งานได้ในขณะเดินทางหรือเคลื่อนที่ บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจึงนิยามตลาดกลุ่มใหม่นี้โดยให้ชื่อว่า Broadband Wireless Access (BWA) หรือการสื่อสารบรอดแบนด์แบบไร้สาย พร้อมกับกำหนดเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่เหมาะสม เพื่อรองรับบริการดังกล่าว ทั้งนี้เทคโนโลยีใด ๆ ก็ตามที่จะสามารถรองรับธุรกิจ BWA ได้นั้นจะต้องเป็นทั้งมาตรฐานสื่อสารที่เน้นแบนด์วิดท์ (Bandwidth) สำหรับการรับส่งข้อมูลด้วยอัตราเร็วสูง และต้องรองรับการใช้งานในขณะเคลื่อนที่ ดังแสดงในรูปที่ 1



รูปที่ 2 ทางเลือกในการเปิดให้บริการ Broadband Wireless Access

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการใช้บริการสื่อสารข้อมูลของผู้บริโภคโดยทั่วไปในทางปฏิบัติแล้ว ก็พบว่ามีทางเลือกในการนำเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายเพื่อรองรับตลาดแบบ BWA ได้ถึง 3 ลักษณะด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังแสดงในรูปที่ 2 ดังนี้

  • กลุ่มผู้ใช้งานประจำที่ (Fixed Access) เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ที่ใช้งานอยู่ประจำที่ตายตัว เช่น ภายในบ้านหรือสำนักงาน หากแต่มีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อวงจรบรอดแบนด์แบบมีสายเพื่อเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เช่น เป็นถิ่นธุรกันดาร หรือผู้ให้บริการวงจรสื่อสารแบบบรอดแบนด์ยังไม่มีเครือข่ายในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นทางเลือกในการนำเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในลักษณะ BWA ไปให้บริการในกลุ่มผู้ใช้งานดังกล่าว
  • กลุ่มผู้ใช้งานแบบเคลื่อนที่เล็กน้อย (Nomadic and Portable) เป็นผู้ใช้บริการที่ยังมีพฤติกรรมการใช้งานอยู่เป็นที่ แต่อาจมีการเคลื่อนที่เล็กน้อย เช่น การใช้อุปกรณ์ประมวลผลแบบ PDA หรือเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารไร้สายไว้ ซึ่งอาจมีการเดินไปมา หรือย้ายตำแหน่งที่ใช้งานบ้าง แต่ไม่ถึงกับมีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ดังเช่นในกรณีของการใช้อุปกรณ์ประมวลผลไร้สายในอาคารสำนักงาน หรือภายในร้านอาหารต่าง ๆ เป็นต้น
  • กลุ่มผู้ใช้งานที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา (Mobility) เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการเคลื่อนที่ย้ายตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา บางรายอาจมีการใช้งานในยาพาหนะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เช่น ภายในรถยนต์หรือรถไฟ ในทางการตลาดถือว่าผู้ใช้บริการกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่สุด เนื่องจากต้องการความสะดวกทั้งการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ พร้อม ๆ กับการใช้งานได้แม้ในขณะเคลื่อนที่ ซึ่งทำให้เกิดการลงทุนสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ถือเป็นกลุ่ม “ พรีเมียม ” (Premium subscriber) ที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อพิจารณาในมุมมองของบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารไร้สายแล้ว บริการ BWA ยังต้องการการกำหนดตำแหน่งทางการตลาด (Market Positioning) ที่ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันถึงการเติบโตและการประสบความสำเร็จในอนาคต รูปที่ 3 เป็นข้อมูลที่ได้จากการศีกษาและวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งในยุโรป ซึ่งทดลองคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างระดับราคากับปริมาณข้อมูลที่มีการบริโภคโดย เปรียบเทียบระหว่างบริการสื่อสารชนิดบรอดแบนด์แบบมีสาย และการสื่อสารไร้สายโดยทั่วไป พบว่าที่ปริมาณการบริโภคข้อมูลเท่ากัน (เส้นสีแดง) ระดับราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายผ่านบริการสื่อสารไร้สายมีมูลค่าสูงกว่าการบริโภคข้อมูลในปริมาณเท่ากันโดยใช้บริการแบบรอดแบนด์โดยทั่วไปมาก ข้อเท็จจริงนี้เกิดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงการคิดค่าบริการสื่อสารแบบรอดแบนด์ซึ่งปัจจุบันกำหนดอัตราค่าบริการรายเดือนประมาณ 500-600 บาท สำหรับการสื่อสารด้วยอัตราเร็ว 512/256 กิโลบิตต่อวินาที โดยไม่สนใจปริมาณข้อมูลที่มีการรับส่ง ในขณะที่การสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไป คิดราคาตามปริมาณข้อมูลในอัตราประมาณ 1 บาทต่อ 100 กิโลไบต์ ถ้ายิ่งมีการรับส่งข้อมูลในปริมาณที่มากขึ้นเท่าใด ราคาค่าใช้บริการสื่อสารไร้สายก็จะแพงกว่าการใช้เครือข่ายบรอดแบนด์เป็นเงาตามตัว



รูปที่ 3 ตำแหน่งทางการตลาดของบริการ Broadband Wireless Access
(ข้อมูลจากบริษัทวิจัยทางการตลาดแห่งหนึ่งในยุโรป)

แกนนอนของรูปที่ 3 ยังแสดงให้เห็นว่าบริการสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายมีข้อจำกัดในเรื่องของอัตราเร็วในการสื่อสารเมื่อเทียบกับบริการแบบบรอดแบนด์ นั่นคือการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีราคาแพงกว่าการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลอีกด้วย การนิยามตลาดสื่อสารแบบ BWA ซึ่งถือเป็นการผสมผสาน 2 มิติทางการตลาด ทั้งในเรื่องของบรอดแบนด์และการสื่อสารแบบไร้สาย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประนีประนอม (Compromise) ข้อจำกัดและปัจจัยทางเทคนิคต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว โดยระดับราคาสำหรับการบริโภคข้อมูลต่ำลงกว่าการสื่อสารแบบไร้สาย แม้จะยังมีราคาสูงกว่าการสื่อสารแบบบรอดแบนด์อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าแลกกับความคล่องตัวในการใช้งานในขณะเคลื่อนที่ ทั้งนี้การกำหนดราคาค่าบริการและอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลของบริการ BWA ขึ้นอยู่กับประเภทของการให้บริการ ตามกลุ่มผู้ใช้บริการทั้ง 3 ประเภทดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

เพื่อเป็นการยืนยันถึงโอกาสทางธุรกิจของบริการ BWA บริษัทวิจัยดังกล่าวยังได้ทำการคำนวณเปรียบเทียบมูลค่าทางการตลาดระหว่างบริการสื่อสารข้อมูลชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นการสื่อสารแบบไร้สาย เช่น บริการ SMS (Short Message Service) ซึ่งรวมถึงบริการรับส่งรูปภาพและเสียงเรียกเข้าต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน และบริการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Data) ซึ่งรวมการรับส่งรูปภาพแบบ MMS (Multimedia Messaging Service) รวมถึงบริการสื่อสารข้อมูลบรอดแบนด์ผ่านเทคโนโลยี DSL พร้อมกับเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการตลาดที่มีโอกาสเกิดขึ้นทันทีที่มีการเปิดให้บริการ BWA ดังแสดงในรูปที่ 14 พบว่าที่ปริมาณข้อมูลซึ่งมีการรับส่งเท่า ๆ กัน คือ 1 กิกะไบต์นั้น ระดับราคาของการสื่อสารผ่านบริการ BWA คิดเฉลี่ยบนกลุ่มผู้ใช้งานแต่ละประเภทมีมูลค่าประมาณ 17 ยูโร (หรือประมาณ 1,050 บาท) เมื่อเทียบกับมูลค่าของการสื่อสารผ่านวงจรบรอดแบนด์แบบมีสายที่มีราคาเพียง 5 ยูโร (หรือประมาณ 250 บาท) แม้จะมีมูลค่าทางการตลาดต่ำกว่าการสื่อสารแบบ Mobile Data กว่า 31 เท่า แต่สำนักวิจัยและบรรดาผู้ประกอบการเครือข่ายสื่อสารไร้สายก็เชื่อมั่นว่าความหลากหลายของบริการผ่านเครือข่ายสื่อสารไร้สาย จะช่วยทำให้มูลค่าทางการตลาดของบริการ BWA เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นไปได้ว่าบริการ Mobile Data ก็จะถูกผนวกไปเป็นส่วนหนึ่งของบริการ BWA ในท้ายที่สุด

รูปที่ 4 เปรียบเทียบมูลค่าทางธุรกิจของบริการสื่อสารข้อมูลแบบต่าง ๆ
(ข้อมูลจากบริษัทวิจัยทางการตลาดแห่งหนึ่งในยุโรป)

เทคโนโลยีทางเลือกสำหรับบริการ Broadband Wireless Access

ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วว่า BWA เป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่เหมาะสมและสามารถผลักดันให้บริการ BWA ประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้จึงเป็นข้อพิจารณาสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเครือข่ายสื่อสารทั่วโลก ในที่นี้การทำตลาด BWA มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่เพียงผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารไร้สายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารแบบมีสาย ไม่ว่าจะเป็น บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) หรือแม้กระทั่งนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจการให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายในลักษณะของ BWA อีกด้วย

การที่จะพิจารณาว่าเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแบบใดเข้าข่ายที่จะเป็นตัวเลือกให้กับบริการ BWA นั้น ปัจจุบันดูจากอัตราเร็วในการสื่อสารข้อมูล โดยบรรดาผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั่วโลกเห็นพ้องกันว่าให้ใช้อัตราเร็ว 512 กิโลบิตต่อวินาทีเป็นจุดอ้างอิง เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายชนิดใดรองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยอัตราเร็วกว่าค่าดังกล่าวก็ให้ถือว่าเข้าข่ายเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบริการ BWA สาเหตุที่ใช้ค่าดังกล่าวก็เพราะอัตราเร็ว 512 กิโลบิตต่อวินาทีเป็นค่ามาตรฐานที่ผู้ใช้บริการบรอดแบนด์แบบ ADSL ทั่วไปใช้งานอยู่ สามารถใช้อ้างอิงในเชิงของประสิทธิภาพและความเคยชินในการใช้งานได้ทั่วไป ซึ่งการกำหนดนิยามดังกล่าวมีผลทำให้มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตระกูล 2G ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น GSM, GPRS, EDGE และ CDMA หมดสิทธิ์เป็นทางเลือกสำหรับบริการ BWA ไปโดยทันที เนื่องจากในบรรดามาตรฐานเหล่านี้ EDGE เป็นเทคโนโลยีที่รองรับอัตราเร็วในการสื่อสารข้อมูลสูงที่สุดคือ 384 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งก็ยังไม่ถึงขั้นเหมาะสมให้บริการ BWA ตามนิยามที่กำหนดไว้ข้างต้น แม้จะเป็นมาตรฐาน 3G แบบ W-CDMA ซึ่งมีอัตราเร็วในการสื่อสารข้อมูล 384 กิโลบิตต่อวินาทีก็ยังไม่อาจนำมาเปิดให้บริการ BWA ให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้



รูปที่ 5 เปรียบเทียบขีดความสามารถของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแบบต่าง ๆ

เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายชนิดใหม่ ๆ ที่สามารถนับได้ว่าเป็นทางเลือกในการเปิดบริการ BWA ในปัจจุบันมีอยู่เพียง 3 ชนิดดังแสดงในรูปที่ 5 แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเปิดให้บริการ BWA แตกต่างกันไป ซึ่งในอนาคตอันใกล้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายชนิดใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาศัยภาพให้สูงขึ้นและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับบริการ BWA ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายทางเลือกที่มีอยู่ 3 ชนิดในปัจจุบัน โดยมีการแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้

1. เทคโนโลยี HSDPA (High Speed Downlink Packet Access) เป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่นับเป็นวิวัฒนาการขั้นถัดมาจากเครือข่าย W-CDMA อันเป็นมาตรฐาน 3G จากค่ายยุโรป ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่าเทคโนโลยี cdma2000 ซึ่งเป็นมาตรฐาน 3G จากค่ายสหรัฐอเมริกา เป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลของมาตรฐาน W-CDMA มาตรฐานนั้นถูกจำกัดอยู่ที่ 384 กิโลบิตต่อวินาที องค์กร 3GPP (Third Generation Partnership Program) ซึ่งเป็นผู้วางข้อกำหนดมาตรฐานของเครือข่าย W-CDMA จึงกำหนดให้มีการพัฒนารูปแบบการรับส่งข้อมูลทางคลื่นวิทยุของอุปกรณ์สถานีฐาน W-CDMA ซึ่งมีชื่อเรียกสถานีฐานนั้นว่า Node B ด้วยการนำเทคโนโลยีการมอดูเลตสัญญาณ และการเข้ารหัสข้อมูลแบบใหม่ เพื่อช่วยทำให้อัตราเร็วในการส่งข้อมูลจาก Node B มายังเครื่องลูกข่ายสื่อสารไร้สาย เพิ่มขึ้นเป็น 14 เมกะบิตต่อวินาที ในขณะที่การส่งข้อมูลกลับจากอุปกรณ์สื่อสารไร้สายไปยัง Node B ยังคงใช้อัตราเร็ว 384 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งว่าเพียงพอและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้บริการสื่อสารข้อมูลแบบบรอดแบนด์ที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มีการดาวน์โหลดข้อมูลจากเครือข่ายมากกว่าการส่งข้อมูลย้อนกลับไป อย่างไรก็ตาม ภายใน พ.ศ. 2550 เครือข่าย W-CDMA ที่มีการเปิดใช้เทคโนโลยี HSDPA นี้ ก็จะมีการพัฒนาต่อไปเป็นเครือข่ายแบบ HSUPA (High Speed Uplink Packet Access) ซึ่งมีผลทำให้อัตราเร็วในการรับและส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สื่อสารไร้สายและ Node B มีค่า 14 กิโลบิตต่อวินาทีเท่ากัน

รูปที่ 6 แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของเทคโนโลยี HSDPA กับความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งข้อมูลขนาดเล็ก เช่น ไฟล์รูปภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอลภายในตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่เอง ไปจนถึงการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่เช่น Video Clip หรือไฟล์ข้อมูลจากโปรแกรม Microsoft Office ต่าง ๆ โดยการเปรียบเทียบนั้นทำบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงเมื่อคิดว่าเครือข่าย HSDPA ซึ่งรองรับการส่งข้อมูลด้วยอัตราเร็ว 14 เมกะบิตต่อวินาทีนั้น เมื่อคิดคำนวณเป็นค่าความเร็วเฉลี่ยที่ผู้ใช้บริการรายหนึ่งพึงใช้ได้ในกรณีที่มีผู้ใช้งานพร้อม ๆ กันหลายคน ก็น่าจะได้ความเร็วที่ประมาณ 2 เมกะบิตต่อวินาที



รูปที่ 6 ความเร็วในการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย HSDPA
เปรียบเทียบกับมาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดอื่น ๆ

ในมุมมองของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ W-CDMA การเปิดให้บริการ BWA โดยพัฒนาเครือข่ายของตนให้รองรับเทคโนโลยี HSDPA เป็นเรื่องที่ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำมาก เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ Node B แต่อย่างใด การพัฒนาเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนซอฟท์แวร์ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ Node B เท่านั้น

2. เทคโนโลยี WiMAX (Worldwide inter-Operability for Microwave Access) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการผลักดันมาตรฐานโดยสมาคม WiMAX โดยนำเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุแบบไมโครเวฟมาพัฒนาพร้อมทั้งใช้การมอดูเลตสัญญาณแบบ OFDM (Orthogonal Frequency Division Multiplexing) และกำหนดมาตรฐานโปรโตคอลระบบสัญญาณขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดการแพร่กระจายคลื่นความถี่วิทยุในลักษณะเดียวกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเซลลูลาร์ WiMAX ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับความนิยมใช้งานอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะด้วยการผลักดันในเรื่องของชิปเซ็ตที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท Intel ให้มีลักษณะการใช้งานแบบเดียวกับ Centrino ที่มีการรวมฟังก์ชั่นการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi มาแล้ว ในทางทฤษฎีสามารถใช้อุปกรณ์สถานีฐาน WiMAX รับส่งสัญญาณด้วยอัตราเร็วสูงสุดถึง 70 เมกะบิตต่อวินาทีในกรณีของการส่งสัญญาณเป็นเส้นตรงแบบเดียวกับการรับส่งสัญญาณไมโครเวฟ หรือประมาณ 10-20 เมกะบิตต่อวินาทีในกรณีของการรับส่งสัญญาณแบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป



รูปที่ 7 เทคโนโลยี WiMAX กับพัฒนาการทางเทคนิค

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี WiMAX ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่บางประการ โดยเฉพาะคุณลักษณะทางเทคนิคที่จำกัดการใช้งานในขณะเคลื่อนที่ ข้อเท็จจริงก็คือเทคโนโลยี WiMAX ได้รับการพัฒนาขึ้นบนมาตรฐานสื่อสารไร้สาย IEEE802.16 โดยมีลำดับขั้นการพัฒนาเริ่มจาก IEEE802.16d ซึ่งกำลังจะมีการประกาศใช้งานทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2548 รองรับการสื่อสารด้วยอัตราเร็วสูงในหลายย่านความถี่ใช้งาน เช่น 2.5 กิกะเฮิตรซ์, 3.5 กิกะเฮิตรซ์ และ 5.8 กิกะเฮิตรซ์ ด้วยรูปแบบการส่งสัญญาณแบบเส้นทางตรง (Line of Sight หรือ LOS) และการสื่อสารแบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป (Non Line of Sight หรือ NLoS) แต่มาตรฐาน IEEE802.16d ไม่สามารถรองรับผู้ใช้งานที่มีเคลื่อนที่ไปมาได้ จนกว่าจะมีมาตรฐาน IEEE802.16e ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพัฒนาจนพร้อมประกาศใช้งานได้จริงในปี พ.ศ. 2550 มาตรฐานใหม่นี้สามารถให้บริการผู้ใช้งานที่มีการเคลื่อนที่ แต่ก็ยังจำกัดในเรื่องของความเร็วในการเดิน โดยทั่วไปน่าจะเหมาะกับการเดินไปมาในระยะทางใกล้ เช่น ลุกจากที่นั่งพร้อมอุปกรณ์สื่อสารเพื่อไปยังอีกจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้ (Nomadic Movement) การรองรับบริการแบบเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากขึ้นคงต้องรอจนถึงปี พ.ศ. 2551 ไปแล้ว อย่างไรก็ตามพัฒนาการของเทคโนโลยี WiMAX อาจเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ หากผลตอบรับจากการเปิดให้บริการเป็นไปด้วยดี จนทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริษัท Intel ต้องเร่งผลักดันมาตรฐาน IEEE802.16e และ IEEE802.16e+ ให้เกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนดเดิม

3. เทคโนโลยี Flash-OFDM (Flash Orthogonal Frequency Division Multiplexing) เป็นอีกเทคโนโลยีทางเลือกซึ่งใช้การรับส่งข้อมูลแบบ OFDM เช่นเดียวกับที่ใช้ในเครือข่าย WiMAX ทั้งนี้ Flash-OFDM เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Flarion ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีย่านความถี่ใช้งานได้ตั้งแต่ช่วง 450 เมกะเฮิตรซ์ ขึ้นไปจนถึง 2.5 กิกะเฮิตรซ์ แล้วแต่ว่าประเทศใดมีย่านความถี่ช่วงใดว่างสำหรับใช้งาน คุณสมบัติทั่วไปของเทคโนโลยีดังกล่าวรองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยอัตราเร็ว 3 เมกะบิตต่อวินาทีจากสถานีฐานไปสู่อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย และ 800 กิโลบิตต่อวินาทีในทางกลับกัน ย่านความถี่ที่น่าจะมีการนำไปใช้กับเทคโนโลยี Flash-OFDM มากที่สุดก็คือ 450 เมกะเฮิตรซ์ ซึ่งเป็นความถี่ดั้งเดิมที่ใช้กับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ NMT (Nordic Mobile Telephone) ซึ่งเป็นเครือข่ายโบราณในยุค 1G และพบว่ายังมีการถือครองสิทธิ์ความถี่ดังกล่าวอย่างมากในบรรดาประเทศแถบยุโรปตะวันออก ซึ่งเพิ่งอยู่ในยุคเปิดประเทศ และมีการพัฒนาเครือข่ายจากยุค 1G ไปเป็นเครือข่ายสื่อสารข้อมูลไร้สายที่เน้นต้นทุนต่ำ จึงเหมาะกับการเปิดตัวของมาตรฐาน Flash-OFDM ในฐานะของทางเลือกหนึ่งสำหรับการให้บริการ BWA โดยไม่ต้องรอขออนุมัติใช้ย่านความถี่เมื่อเทียบกับการเลือกเปิดให้บริการ HSDPA หรือ WiMAX

เมื่อนำเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายทั้ง 3 ชนิด ที่จัดว่าเข้าข่ายเป็นทางเลือกในการนำมาเปิดให้บริการ BWA มาจัดกลุ่มตามคุณสมบัติการให้บริการเพื่อกำหนดรูปแบบการนำไปใช้งานแล้วก็จะได้ดังแสดงในรูปที่ 8 โดย HSDPA มีความเหมาะสมกับบริการ BWA ที่ผู้ใช้งานเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ WiMAX ตามมาตรฐาน IEEE802.16d ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่จะมีการเปิดตัวใช้งานในเร็ว ๆ นี้ เหมาะสำหรับการเปิดใช้งานในลักษณะของเครือข่ายบรอดแบนด์แบบใช้งานประจำที่ โดยอาศัยคลื่นความถี่วิทยุจากสถานีฐาน WiMAX เป็นช่องทางในการนำสัญญาณข้อมูลไปยังอุปกรณ์รับส่งที่ติดตั้งอยู่ภายในที่พักอาศัยหรือสำนักงาน ซึ่งโดยทั่วไปเรียกชื่ออุปกรณ์ประเภทนี้ว่า CPE (Customer Premises Equipment) ซึ่งอาจมีลักษณะไม่ต่างจากโมเด็ม ADSL หรือเราเตอร์ ADSL ที่มีใช้งานกันในปัจจุบัน ทั้งนี้จากรูปที่ 8 จะเห็นว่ามาตรฐานสื่อสารแบบ WiFi หรือ WLAN และมาตรฐาน WiMAX รุ่นถัดไป (IEEE802.16e) มีขีดความสามารถเพียงพอในการรองรับผู้ใช้งานที่พอจะมีการเคลื่อนที่บ้าง

นอกจากการจัดแบ่งประเภทของบริการที่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งานแล้ว คุณภาพของการรับส่งข้อมูล (Quality of Service) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการกำหนดประเภทของการให้บริการ โดยเทียบกับเทคโนโลยีบรอดแบนด์แบบมีสาย เช่น ADSL ซึ่งให้บริการผู้ใช้งานที่อยู่ประจำที่และรับประกันคุณภาพในการรับส่งข้อมูลในระดับที่สูงมาก เนื่องจากใช้คู่สายสัญญาณในการรับส่งข้อมูล สำหรับบริการ WiMAX แบบประจำที่นั้น จะมีคุณภาพในการรับส่งข้อมูลต่ำกว่า ADSL เนื่องจากเป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หากต้องการให้มีคุณภาพสูงขึ้นก็ต้องลดอัตราเร็วในการรับส่งหรือลดจำนวนผู้ใช้งานที่พึงให้บริการได้ เพื่อชดเชยกับข้อมูลปรับแก้คุณภาพ (Overhead) ที่ต้องใส่เพิ่มเข้าไป จึงส่อให้เห็นว่าการกำหนดค่าบริการ WiMAX แบบประจำที่นั้นอาจจะทำได้ไม่สูงกว่า ADSL มากนัก แม้จะถือว่าเป็นบริการ BWA แบบเน้นการใช้งานประจำที่ ที่เป็นทางเลือกทดแทนการขอคู่สาย ADSL ในพื้นที่ทุรกันดานหรือขาดแคลนวงจรสื่อสารแบบบรอดแบนด์ก็ตามที ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับตำแหน่งทางการตลาดของกลุ่มผู้ใช้งานประจำที่ซึ่งแสดงในรูปที่ 3



รูปที่ 8 การจัดแบ่งรูปแบบการให้บริการ BWA ตามคุณสมบัติของเทคโนโลยี

สำหรับผู้ใช้บริการแบบเคลื่อนที่เล็กน้อย ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับเทคโนโลยี WiMAX ยุค IEEE802.16e และกลุ่มผู้ใช้บริการแบบเคลื่อนที่มากซึ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยี Flash-OFDM หรือ HSDPA นั้น ก็คงมีตำแหน่งทางการตลาดที่ลงตัวกับการกำหนดคิดค่าบริการดังแสดงในรูปที่ 3 เช่นเดียวกัน ในกรณีนี้มิได้มีข้อห้ามตายตัวแต่ประการใดว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถนำเทคโนโลยีที่มีความเหนือว่าในเรื่องของการรองรับการเคลื่อนที่มาให้บริการในกลุ่มที่ต่ำกว่า เป็นไปได้ที่จะมีการลงทุนสร้างเครือข่าย Flash-OFDM หรือ HSDPA ขึ้นเพื่อเปิดให้บริการสื่อสารข้อมูล BWA แบบประจำที่ แต่เนื่องจากหลักความจริงดังที่ปรากฏในรูปที่ 8 ว่าผู้ประกอบการไม่สามารถคิดค่าบริการ BWA แบบประจำที่ได้สูงกว่าราคาค่าใช้บริการบรอดแบนด์แบบมีสาย ประกอบกับแนวโน้มที่ว่าต้นทุนในการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายที่รองรับผู้ใช้งานที่เคลื่อนที่ตลอดเวลานั้น ย่อมมีค่าสูงกว่าการสร้างเครือข่าย WiMAX การลงทุนในลักษณะดังกล่าวจึงไม่น่าจะเหมาะสมนัก ยกเว้นว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้ต้นทุนในการสร้างเครือข่ายสื่อสารแต่ละประเภทไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

ตารางที่ 1 เป็นการเปรียบเทียบคุณลักษณะและขีดความสามารถทางเทคนิคของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายทั้งสามมาตรฐาน ในขณะที่ตารางที่ 2 เปรียบเทียบในมุมมองของการลงทุนและความคุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า มาตรฐาน HSDPA และ WiMAX น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการให้บริการ BWA ซึ่ง HSDPA เหมาะกับการให้บริการกลุ่มลูกค้าผู้ใช้งานที่มีการเคลื่อนที่มาก ในขณะที่ WiMAX เหมาะสำหรับการให้บริการกลุ่มผู้ใช้งานที่อยู่ประจำที่หรือมีการเคลื่อนที่เล็กน้อย ส่วนเทคโนโลยี Flash-OFDM นั้น แม้จะมีจุดเด่นในเรื่องของขีดความสามารถในเชิงเทคนิคที่ใกล้เคียงกับการสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ในแง่อัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน HSDPA อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายเพียงรายเดียว มีผลทำให้ไม่สามารถต่อรองต้นทุนในการสร้างเครือข่ายได้ จึงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุด ยกเว้นในกรณีของประเทศที่มีเงื่อนไขเฉพาะ เช่น ในบรรดาประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออกที่ต้องการเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย Flash-OFDM ที่สามารถใช้ย่านความถี่ 450 เมกะเฮิตรซ์ที่ตนมีสิทธิ์ใช้งานอยู่ ก็อาจเป็นกรณีพิเศษที่จะช่วยทำให้ Flash-OFDM ที่การพัฒนาพร้อมกับเติบโตขึ้นได้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือรูปแบบในการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายทั้งแบบ HSDPA และ WiMAX พร้อมทั้งกำหนดรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่สุด

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบคุณลักษณะและความสามารถทางเทคนิคของมาตรฐานสื่อสารไร้สายแต่ละประเภท

 

HSDPA

WiMAX

Flash-OFDM

ตำแหน่งทางการตลาดของบริการ

ระบบสื่อสารไร้สายแบบเซลลูลาร์

ระบบสื่อสารใช้งานประจำที่ สามารถพัฒนาให้ใช้งานขณะเคลื่อนที่ได้ในอนาคต

ระบบสื่อสารไร้สายแบบเซลลูลาร์

ข้อจำกัดความเร็วในการเคลื่อนที่

ใช้ได้ทุกที่ที่มีสัญญาณจากเครือข่าย W-CDMA

ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

802.16d : ใช้งานขณะเคลื่อนที่ไม่ได้

802.16e : เคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ใช้ได้ทุกที่ที่มีสัญญาณจากเครือข่าย Flash-OFDM

ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อัตราเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูล

14 เมกะบิตต่อวินาที (ขาลง)

1.5 เมกะบิตต่อวินาที (ขาขึ้น)

 

ใช้คู่ควบความถี่กว้างช่องละ 5 เมกะเฮิตรซ์

สูงสุดถึง 70 เมกะบิตต่อวินาที (กรณีส่งเป็นลำคลื่นตรงแบบไมโครเวฟ)

ใช้แบนด์วิดท์ 20 เมกะเฮิตรซ์ (ปรับเพิ่มลดได้)

3 เมกะบิตต่อวินาที (ขาลง)

800 กิโลบิตต่อวินาที (ขาขึ้น)

 

ใช้คู่ควบความถี่กว้างช่องละ 1.25 เมกะเฮิตรซ์

การใช้งานย่านความถี่

ตามข้อกำหนด

IMT-2000 (3G)

ต้องขอรับใบอนุญาตใช้ความถี่ มีให้เลือกที่ความถี่ 2.5, 3.5/2.4 และ 5.8 กิกะเฮิตรซ์

ต้องขอรับใบอนุญาตใช้ความถี่ มีให้ใช้งานที่ความถี่ตั้งแต่ 2.5 กิกะเฮิตรซ์ลงไป

มาตรฐานที่รองรับ

3GPP Release 5

802.16d : พร้อมใช้งาน

802.16e : พ.ศ. 2550

802.20 : กำหนดการยังไม่ชัดเจน

เทคโนโลยีที่ใช้

CDM, FDD

 

CDMA/TDMA

OFDM,

FDD หรือ TDD

TDMA/OFDMA

OFDM, FDD

 

OFDMA

ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรฐานสื่อสารไร้สายแต่ละประเภท

 

HSDPA

WiMAX

Flash-OFDM

ความพร้อมในเชิงพาณิชย์

พร้อมให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป

พร้อมเปิดให้บริการ BWA แบบอยู่กับที่ใน พ.ศ. 2548

เปิดให้บริการแบบเคลื่อนที่ได้ในปี พ.ศ. 2549-2550

อยู่ในช่วงทดสอบระบบ

พร้อมให้บริการในเร็ว ๆ นี้

เครื่องลูกข่าย

พร้อมให้บริการ

ในลักษณะของ Air Card มีผู้ผลิตหลายราย

พร้อมให้บริการกลางปี 2549

ในลักษณะของอุปกรณ์ CPE

พร้อมให้บริการ

ในลักษณะของ Air Card มีผู้ผลิตหลายราย

การประหยัดต้นทุนในการวางเครือข่าย

ประหยัดมาก เนื่องจากเป็นการพัฒนาตามเส้นทางของมาตรฐาน W-CDMA (Mass Product)

ขึ้นอยู่กับการผลักดันตลาดของบริษัท Intel ในรูปของ ชิบเซ็ต Centrino

ประหยัดน้อย เนื่องจากเป็นมาตรฐานเฉพาะที่มีผู้ผลิตเครือข่ายเพียงรายเดียว

การคืนทุน

สูง เนื่องจากเป็นการพัฒนาตามเส้นทางของมาตรฐาน W-CDMA (Mass Product)

สูง เนื่องจากเป็นการร่วมมือวิจัยและพัฒนาของบริษัทจำนวนมากในวงการไอที

ยังไม่ชัดเจน



รูปที่ 9 การสร้างเครือข่าย HSDPA และ WiMAX เพื่อรองรับการใช้งานแบบ BWA ต่างรูปแบบกัน

รูปที่ 9 เป็นการเปรียบเทียบแนวทางในการติดตั้งเครือข่ายสื่อสารไร้สายเพื่อเปิดให้บริการแบบ BWA ระหว่างเทคโนโลยี HSDPA (ด้านซ้าย) และ WiMAX (ด้านขวา) ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการเปิดให้บริการ HSDPA กระทำได้ง่ายมาก สำหรับบริษัทผู้ให้บริการที่มีเครือข่าย 3G แบบ W-CDMA เป็นของตนเองอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ของเครือข่าย W-CDMA ให้มีรูปแบบการรับส่งข้อมูลแบบเป็นแบบ HSDPA เท่านั้น เพียงผู้ใช้บรีการมีเครื่องลูกข่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของอุปกรณ์ Air Card หรือแผงวงจรแบบ PCMCIA ที่พร้อมเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ก็สามารถใช้บริการ BWA จากเครือข่าย HSDPA ได้ในทันที พื้นที่ให้บริการของเครือข่าย HSDPA ก็คือพื้นที่เดียวกันกับที่เครือข่าย W-CDMA เปิดให้งานอยู่นั่นเอง ส่วนผู้ให้บริการรายใหม่ หรือเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมอยู่แล้ว แต่ไม่มีสถานีฐานหรืออุปกรณ์ Node B แบบ W-CDMA อยู่ก็จำเป็นจะต้องลงทุนสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ W-CDMA ขึ้นก่อน หรืออาจจะสร้างขึ้นพร้อมพัฒนาซอฟท์แวร์ให้เป็นแบบ HSDPA ไปพร้อม ๆ กันก็ได้



รูปที่ 10 รูปแบบบริการ BWA ที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับ WiMAX มาตรฐาน IEEE802.16e

สำหรับผู้ให้บริการที่คิดเปิดบริการ BWA ในลักษณะใช้งานประจำที่ ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนสร้างเครือข่าย WiMAX ซึ่งมีรูปแบบการลงทุนไม่แตกต่างจากการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่อย่างใด คือสร้างสถานีฐานเพื่อครอบคลุมพื้นที่ให้บริการที่ต้องการ การเน้นกลุ่มผู้ใช้งานประจำที่ซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน จะช่วยทำให้การลงทุนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถเลือกกำหนดได้ว่าจะสร้างสถานีฐาน WiMAX ไว้เฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้ใช้บริการอยู่เท่านั้น การสร้างสถานีฐานเพื่อให้ได้พื้นที่ครอบคลุมไปทั่วในลักษณะเดียวกับการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่น 3G หรือ HSDPA นั้นไม่เหมาะกับการให้บริการ WiMAX โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมาตรฐาน IEEE802.16d ที่ไม่สนับสนุนการใช้งานขณะเคลื่อนที่ รูปแบบการใช้งานของผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นการต่อเชื่อมเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารแบบประจำที่เข้ากับกล่อง CPE ที่จะคอบรับส่งสัญญาณกับสถานีฐาน WiMAX หรือมิฉะนั้นก็เป็นการเปิดให้บริการ WiMAX ในพื้นที่สาธารณะ (Hot Zone) ที่คาดว่าจะมีผู้พกพาอุปกรณ์สื่อสารประเภทคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คหรือ PDA ที่ติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ WiMAX ไปใช้งาน ดังเช่น ในร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือศูนย์การค้าต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ต้องมีการประชาสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการให้ชัดเจนว่าใช้งานได้เฉพาะเมื่อไม่มีการเคลื่อนที่เท่านั้น

เมื่อใดที่เทคโนโลยี WiMAX มีการพัฒนาไปสู่ยุคของมาตรฐาน IEEE802.16e หรือ IEEE802.16e+ ซึ่งสนับสนุนการใช้งานแบบเคลื่อนที่ได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถย้ายข้ามเซลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ ดังแสดงในรูปที่ 10 ผู้ให้บริการเครือข่ายก็ย่อมมีโอกาสที่จะขยายเครือข่ายสถานีฐานให้มากขึ้น เน้นการสร้างพื้นที่ให้บริการที่ต่อเนื่องและกว้างขวางขึ้น โดยยังคงสามารถรักษากลุ่มผู้ใช้บริการประจำที่และ Hot Zone ได้ดังเดิมทุกประการ

ทิศทางของบริการ Broadband Wireless Access

สิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น คงพอจะทำให้ผู้อ่านรู้จักและเข้าใจบริการ BWA ได้ชัดเจนขึ้น โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่านับตั้งแต่ธุรกิจสื่อสารไร้สายมีการพัฒนาจากยุค 2G มาสู่ 3G มูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายของการสื่อสารไร้สายทำให้เกิดการแข่งขันผลิตมาตรฐานชนิดใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย หลายกรณีก่อให้เกิดความสับสนในการเลือกนำเทคโนโลยีไปใช้งาน แนวคิดของการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของ BWA นี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายให้ได้ตามความเหมาะสมทั้งในแง่อุปสงค์ (Demand) ของผู้บริโภคอันได้แก่ความต้องการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ ซึ่งแม้ในกรณีนี้จะเป็นการสร้างกระแสอุปสงค์ขึ้นโดยกลุ่มผู้ประกอบการบ้างก็ตาม และอุปทาน (Supply) ซึ่งก็คือขีดความสามารถของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น HSDPA, WiMAX, Flash-OFDM หรือเทคโนโลยีอื่นใดที่อาจถือกำเนิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดความลงตัว รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค และเกิดผลตอบแทนที่ดีที่สุดต่อผู้ประกอบการ



รูปที่ 11 เปรียบเทียบมูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแต่ละชนิด
(ข้อมูลจากบริษัทวิจัยทางการตลาดแห่งหนึ่งในยุโรป)

รูปที่ 11 เป็นคาดคะเนและเปรียบเทียบมูลค่าการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สาย โดยใช้เทคโนโลยีแต่ละประเภทจนถึง พ.ศ. 2552 ของตลาดสื่อสารไร้สายทั่วโลก สิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนก็คือแนวโน้มของการลงทุนที่มุ่งเน้นไปในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ตระกูล W-CDMA ซึ่งรวมความถึงเทคโนโลยี HSDPA และ HSUPA อันเป็นเกี่ยวเนื่องมาจากฐานของธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาจากการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตระกูล GSM ซึ่งรวม GPRS และ EDGE เข้าไว้ด้วย กล่าวได้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยี W-CDMA เป็นทางเลือกประการเดียวที่ได้รับการยอมรับของผู้ให้บริการเครือข่าย GSM ในปัจจุบัน ทั้งจากทิศทางการพัฒนาของเครือข่าย GSM สู่ W-CDMA และการเปิดกว้างของเทคโนโลยีที่ถือเป็นการต่อยอดจากการใช้งานทั่วโลกของ GSM อีกเช่นกัน ส่วนการลงทุนในเครือข่าย CDMA ซึ่งมีเส้นทางการพัฒนาไปสู่มาตรฐาน 3G ในแบบฉบับของตนเอง อันได้แก่มาตรฐาน cdma2000 ในรูปแบบต่าง ๆ นั้น ก็คงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่น่าจะมีการเติบโตขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีอยู่คงที่ไม่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มาตรฐานยุโรปอย่าง GSM/W-CDMA มาก

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือมูลค่าของการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายสาธารณะโดยใช้เทคโนโลยี WLAN มีการถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความจริงที่ว่ามาตรฐาน WLAN หรือ IEEE802.11b และ IEEE802.11g นั้นออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานภายในองค์กรเป็นหลัก ไม่เหมาะสำหรับการให้บริการสาธารณะ การฝืนพัฒนาขีดความสามารถของอุปกรณ์ WLAN ทั้งในเรื่องของความไวในการรับสัญญาณ กำลังส่ง การรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย หรือแม้กระทั่งความพยายามในการเชื่อมต่อเครือข่าย WLAN เข้ากับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มาตรฐานต่าง ๆ กลายเรื่องยากทางเทคนิค และเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า



รูปที่ 12 ปัจจัยสำคัญต่อการให้บริการ BWA ที่มีประสิทธิภาพ

การกำหนดแนวคิดในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดแบบ BWA ทำให้ธุรกิจสื่อสารไร้สายทั่วโลกเปิดกว้างสำหรับเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายชนิดใหม่ ๆ ที่สามารถให้บริการได้อย่างเหมาะสม แม้มูลค่าการลงทุนสำหรับมาตรฐานสื่อสารไร้สายอื่น ๆ (แถบบนสุดในรูปที่ 11 ) จะไม่มากเทียบเท่ากับมูลค่าการลงทุนในเครือข่าย W-CDMA แต่ก็ต้องถือว่าเป็นทางเลือกและโอกาสใหม่ ๆ ให้กับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการเครือข่ายสื่อสาร สำหรับการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อร่วมกันผลักดันให้บริการแบบ BWA เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มากกว่าจะมีเพียงมาตรฐาน HSDPA หรือมาตรฐานอื่นใดในสายตระกูล W-CDMA เพียงอย่างเดียว

ลำพังเทคโนโลยี HSDPA หรือมาตรฐานอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G แบบ W-CDMA นั้นยังไม่อาจตอบรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สร้างบริการ BWA ได้อย่างมีประสิทธิภาพครบทั้งหมด ดังแสดงในรูปที่ 12 แม้มาตรฐานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ตระกูล 3G นับตั้งแต่ HSDPA เป็นต้นไปจะมีจุดเด่นในเรื่องพื้นที่ให้บริการที่กว้างใหญ่, รองรับการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ขณะที่ผู้ใช้งานกำลังเคลื่อนที่, มีมาตรฐานป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลอย่างรัดกุม และสามารถควบคุมจัดการคุณภาพในการให้บริการ (QoS) ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายในลักษณะนี้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เนื่องจากเป็นการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้น แม้บริษัทผู้ให้บริการจะเคยมีเครือข่าย GSM เป็นของตนเองมาก่อน และลงทุนเพียงพัฒนาปรับเปลี่ยนเฉพาะอุปกรณ์สถานีฐานให้รองรับมาตรฐาน 3G แต่ก็ยังนับเป็นการลงทุนที่สูงกว่าและมีการเชื่อมต่อที่ซับซ้อนกว่าการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายแบบอื่น ๆ เช่น WiMAX ซึ่งมีความง่ายในการติดตั้งใช้งาน เนื่องจากอุปกรณ์สถานีฐาน WiMAX เป็นเสมือนอุปกรณ์เราเตอร์ที่สามารถนำมาเชื่อมต่อได้ง่าย โดยไม่มีโครงสร้างการเชื่อมต่อที่ซับซ้อนเหมือนดังเช่นเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผลดีในภาพรวมก็คือการสร้างเครือข่าย WiMAX มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มาก ทั้งยังบริหารจัดการเครือข่ายได้ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นการจัดการบนพื้นฐานของเครือข่าย IP ทั่ว ๆ ไป แม้ในปัจจุบัน WiMAX จะยังมีข้อด้อยในเรื่องของการที่ไม่สามารถใช้งานขณะเคลื่อนที่ได้ แต่เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอีกระยะหนึ่งปัญหาดังกล่าวก็จะได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไป



รูปที่ 13 ตำแหน่งทางการตลาดและการแบ่งกลุ่มเป้าหมายสำหรับบริการ BWA ตามประเภทเทคโนโลยี

ผลที่เกิดตามมาก็คือ บรรดาเทคโนโลยีทางเลือกที่มีการพัฒนาประสิทธิภาพแล้ว จะเกิดการแข่งขันกันเอง ทำให้บริการ BWA ในภาพรวมมีต้นทุนลดต่ำลง มีผลทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดราคาค่าบริการลงได้โดยที่ตนยังรักษาผลกำไรจากการประกอบการได้ดังเดิม ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมต่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด ทั้งนี้รูปที่ 13 แสดงให้เห็นถึงการจัดแบ่งกลุ่มผู้ใช้บริการตามประเภทของการใช้งาน โดยแบ่งเป็นการใช้งานแบบประจำที่ ซึ่งเหมาะสำหรับเทคโนโลยี WiMAX และกลุ่มผู้ใช้งานพรีเมียมซึ่งต้องการใช้บริการ BWA ในขณะกำลังเดินทางเคลื่อนที่ ซึ่งเหมาะมากสำหรับเทคโนโลยี HSDPA ดังที่ได้มีการกำหนดแบ่งกลุ่มตลาดผู้บริโภคในรูปที่ 8 การนำเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายจับตลาดผิดประเภทจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการในแง่ของการบริหารต้นทุน นอกจากจะมีความจำเป็นจริง ๆ เช่น ต้องวางเครือข่าย HSDPA เพื่อให้บริการกลุ่มเป้าหมาย BWA แบบใช้งานประจำที่ เนื่องจากไม่มีสิทธิ์ใช้ความถี่รวมถึงสร้างเครือข่ายสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยี WiMAX ได้ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ แม้กระทั่งในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตและแนวทางในการประกอบกิจการ BWA ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

ผู้เขียนขอปิดท้ายบทความชุดนี้ ด้วยตัวอย่างแนวทางในการเปิดให้บริการ BWA ในกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้แจกแจงโดยแบ่งตามเงื่อนไขของเทคโนโลยี และสภาพการแข่งขันในปัจจุบันเป็นสำคัญ ตัวอย่างที่จะแสดงเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ มิได้พิจารณาเฉพาะผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งเป็นสำคัญ

แบบจำลองที่ 1 : ตลาดของเทคโนโลยี W-CDMA และ DSL

เป็นตลาดสื่อสารไร้สายที่มีการเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ซึ่งต่อมามีการพัฒนาไปเป็นมาตรฐาน W-CDMA นอกจากนั้นก็มีการให้บริการเครือข่ายบรอดแบนด์แบบมีสายด้วยเทคโนโลยี ADSL เนื่องจากผู้ให้บริการทั้งหมดในประเทศกลุ่มนี้ล้วนมีเครือข่าย W-CDMA ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นเทคโนโลยี HSDPA ได้โดยง่าย ทางเลือกในการทำตลาด BWA จึงค่อนข้างชัดเจน นั่นคือกำหนดให้เครือข่าย HSDPA รองรับผู้ใช้งานแบบพรีเมียมที่เน้นการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ในขณะเคลื่อนที่ โดยสามารถให้บริการได้ในทุกพื้นที่ (ภายใต้เงื่อนไขว่ามีเครือข่าย W-CDMA ครอบคลุมอยู่ทั่วแล้ว) ขณะเดียวกับที่มีการสร้างเครือข่าย WiMAX เพื่อให้บริการสื่อสาร BWA แบบประจำที่ โดยเน้นเร่งการคุ้มทุนด้วยการเปิดให้บริการเฉพาะในเมืองหรือชานเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ทั้งนี้ไม่มีข้อบังคับหรือจำกัดใด ๆ ว่าใครจะเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายใด รายละเอียดแสดงในรูปที่ 14



รูปที่ 14 การให้บริการ BWA ในแบบจำลองตลาดชนิดที่ 1

แบบจำลองที่ 2 : ตลาดของเทคโนโลยี W-CDMA และบริการออนไลน์ต่าง ๆ

เป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะตัว พบได้ในกลุ่มประเทศแถบยุโรปตะวันออก ซึ่งไม่มีผู้ให้บริการเครือข่าย GSM มาก่อน หรือหากจะมีก็ไม่มากรายนัก เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายถูกจำกัดอยู่ที่มาตรฐาน 1G อย่าง NMT 450 เมกะเฮิตรซ์ เนื่องจากการปิดประเทศมานาน หลังจากเปิดประเทศก็ต้องพบกับกระแสของเทคโนโลยีที่มีหลากหลาย ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการออกใบอนุญาตให้ดำเนินการสร้างเครือข่าย W-CDMA เลย อย่างไรก็ดีเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ประกอบกับมีความเสี่ยงสูงหากเน้นสร้างเครือข่าย 3G หรือ WiMAX เพื่อให้บริการ BWA แล้วพบว่าผู้บริโภคไม่สามารถสู้ราคาค่าบริการได้ เนื่องจากพอใจและยอมรับในค่าบริการของ ADSL ที่มีใช้งานกันอยู่ ทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ BWA ก็คือการใช้โครงสร้างของเครือข่าย NMT 450 เมกะเฮิตรซ์ โดยเปลี่ยนสถานีฐานไปเป็นเทคโนโลยี Flash-OFDM ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่ความถี่ต่ำย่อมรับประกันว่าจะสามารถสร้างพื้นที่ให้บริการที่กว้างกว่าใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีความถี่สูงกว่าได้มาก เทคโนโลยี Flash-OFDM จึงเป็นทางเลือกหลักสำหรับการให้บริการ BWA ในทุกพื้นที่ที่มีเครือข่าย NMT อยู่ก่อน แม้อัตราเร็วในการสื่อสารข้อมูลจะไม่สูงจนเทียบเท่ากับมาตรฐาน HSDPA หรือ WiMAX แต่ก็เป็นการลงทุนแบบประนีประนอม และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยเน้นการจับกลุ่มเป้าหมายทั้งแบบพรีเมียมและแบบใช้งานประจำที่ (FWA หรือ Fixed Wireless Access) ไปพร้อมๆ กัน



รูปที่ 15 การให้บริการ BWA ในแบบจำลองตลาดชนิดที่ 2

การสร้างเครือข่าย HSDPA เพื่อจับกลุ่มเป้าพรีเมียม หรือสร้างเครือข่าย WiMAX เพื่อจับเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ใช้งานประจำที่อาจกระทำได้ แต่ผู้ประกอบการน่าจะมีความกังวลในเรื่องความเสี่ยงของผลตอบแทน จึงมักพบว่ามีการสร้างเครือข่าย HSDPA และ WiMAX เพื่อเปิดให้บริการเฉพาะย่านใจกลางเมืองที่มีแนวโน้มผู้ใช้บริการสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ดังแสดงรายละเอียดในรูปที่ 15

แบบจำลองที่ 3 : ตลาดที่มีหลายเทคโนโลยี

เป็นตลาดสื่อสารไร้สายที่มีเทคโนโลยีทางเลือกมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี GSM ซึ่งเติบโตและพัฒนาไปเป็น GPRS และ EDGE หลาย ๆ ประเทศอาจมีเทคโนโลยี CDMA เป็นคู่แข่งขัน ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นมาตรฐาน cdma2000-1X ได้ นอกจากนั้นยังมีความพยายามในการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการเครือข่าย W-CDMA อีก ซึ่งถือว่าธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยก็ตกอยู่ในแบบจำลองประเภทสุดท้ายนี้ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันตกและทวีปเอเชีย โดยมีรายละเอียดดังแสดงในรูปที่ 16



รูปที่ 16 การให้บริการ BWA ในแบบจำลองตลาดชนิดที่ 3

เมื่อมีแนวคิดในการทำตลาดแบบ BWA ผู้ประกอบการในตลาดตามแบบจำลองชนิดที่ 3 ก็มีทางเลือกในการลงทุนเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายอยู่หลากหลายรูปแบบ ในการจับกลุ่มผู้ใช้บริการแบบพรีเมียมนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะวางเครือข่าย HSDPA เพื่อรองรับการใช้งานในเขตเมืองและชานเมือง เนื่องจากหลักความจริงที่ว่าผู้ประกอบการเครือข่ายแทบทั้งหมดมองไม่เห็นความคุ้มทุนในการวางเครือข่าย 3G ในเขตชนบท ดังนั้นการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายแบบ Flash-OFDM ซึ่งใช้ความถี่ต่ำในย่าน 450 เมกะเฮิตรซ์ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการกว้างจึงดูจะเป็นทางเลือกแบบผสมผสานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดตลาดกลุ่มพรีเมียมในชนบท

ขณะเดียวกับที่เครือข่าย EDGE ของผู้ให้บริการที่ยังไม่มีสิทธิ์เปิดบริการเครือข่าย 3G ก็จะมีตำแหน่งทางการตลาดในฐานะของเครือข่ายไร้สายที่รองรับผู้ใช้บริการ BWA ทั้งกลุ่มประจำที่และกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปที่มีความคาดหวังในเรื่องของคุณภาพการให้บริการไม่ถึงขั้นกลุ่มพรีเมียม โดยอาจมีการสร้างเครือข่าย WiMAX เป็นทางเลือกเสริมเพื่อเน้นการให้บริการแบบประจำที่ภายในเขตเมืองและชานเมือง และท้ายที่สุดยังอาจมีการวางเครือข่าย WiMAX ผสมผสานกัน Flash-OFDM เพื่อรองรับการใช้บริการแบบประจำที่โดยเน้นการใช้งานข้ามเครือข่าย (Portable) เป็นจุดขายสำคัญ ซึ่งในทางปฏิบัติบทบาทและหน้าที่ในการลงทุนสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายแต่ละประเภท รวมถึงการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดว่าเครือข่ายของผู้ประกอบการรายใดต้องการจะจับตลาดกลุ่มใดนั้น ล้วนเป็นสิทธิ์ของผู้ประกอบการแต่ละรายเอง

ผู้เขียนเชื่อว่าการทำธุรกิจสื่อสารไร้สายในลักษณะของ BWA น่าจะกลายเป็นกระแสร้อนแรงในอนาคตอันใกล้ ยิ่งเมื่อการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์แบบมีสายในประเทศไทยมาถึงทางตัน เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้าที่จะใช้กลไกราคามาเป็นเครื่องมือในการแข่งขันอีกต่อไป การหยิบยกรูปแบบบริการบรอดแบนด์ชนิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะการทำตลาดแบบ BWA ย่อมกลายเป็นอาวุธชิ้นใหม่ของสมรภูมิบรอดแบนด์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การทำความเข้าใจในเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแต่ละประเภท เพื่อรับทราบจุดเด่นและข้อด้อย เพื่อนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมย่อมเป็นสิ่งที่ผู้สนใจในเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมทุกท่านควรให้ความสนใจ

รู้จัก 3G เพื่อความเข้าใจสู่โลกไร้สายยุคใหม่ ตอนที่ 1

" บทความเรื่องนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ นายไพโรจน์ ไววานิชกิจ การคัดลอกหรือดัดแปลงเพื่อการนำเสนอหรือใช้งานในวัตถุประสงค์ใด ๆ จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยสามารถติดต่อกับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ที่ support@pairoj.com "
Siamphone Dot Com : Mobilephone Catalog Online (Thailand)
© Copyright 2001-2008, All Rights Reserved. สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 [ ลิขสิทธิ์ & นโยบายส่วนตัว ]
หมายเลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 7100703000240

Website & Phone Review : webmaster @ siamphone.com , Magazine : supreecha @ mobilemag.in.th
For Information & Sponsor Ads : information @ siamphone.com